1) ความเป็นมา ปี 2529 2530 ผู้ประกอบการยางพาราไทย ได้ขยายการลงทุนผลิตน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีเพิ่มขึ้นมากจากปัญหา โรคเอดส์ ต่อมาประมาณกลางปี 2530 ผู้ผลิตน้ำยางข้นไทยประสบปัญหาเรื่องภาษีอากรขาออกน้ำยางข้นไปต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำยางข้นจึงร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้รัฐบาลของ ฯพณฯ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ทราบ และต่อมานายประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางมารับทราบปัญหาจากผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น ที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530 และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2530 ผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น ได้เสนอหนังสือแจ้งร้องเรียนถึงความเดือดร้อนดังกล่าว ต่อรัฐบาล ผ่านทางหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 รัฐบาลเห็นชอบ ให้มีการแก้ไขปัญหาโดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ( BOI ) และกระทรวงอุตสาหกรรม อนุมัติยกเว้นการเรียกเก็บภาษีอากรขาออกแก่ผู้ผลิตน้ำยางข้นเป็นเวลา 1 ปี ( เดิมเก็บอัตราภาษีส่งออก 30 %ของราคาขาย ) ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
2) การจัดตั้งเป็นชมรม
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 กลุ่มผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น นำโดย นายยศ พันธุ์พิพัฒน์ ประธานบริษัท นาบอนรับเบอร์ แอนด์ ลาเท็กซ์ และคณะ ได้ประชุมร่วมกันที่ โรงแรม ไทยโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม จึงได้ลงมติเห็นชอบร่วมกันให้จัดตั้ง ชมรมผู้ผลิตน้ำยางข้นแห่งประเทศไทย และจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 โดยมีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 5 บริษัท บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด , บริษัท นาบอนรับเบอร์ จำกัด , บริษัท ที . ที . ลาเท็กซ์ แอนด์โปรดักส์ จำกัด , บริษัท ศรีเจริญลาเท็กซ์จำกัด ที่ประชุมเลือก นายยศ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นประธานชมรมฯ เป็นคนแรกชมรมผู้ผลิตน้ำยางข้นแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกในปัญหาต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารในทุกเรื่องทั้งเทคนิคในการผลิต แรงงาน การตลาดต่างประเทศ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับยางพาราของรัฐบาล
พ.ศ. 2538 คณะกรรมการชมรมฯ ได้หารือกันเพื่อยกฐานะขององค์กร จากชมรม มาเป็นสมาคม เพื่อรองรับกิจกรรมที่มีมากขึ้น จึงได้ขออนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าและได้รับใบอนุญาตสมาคม เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 ใช้ชื่อ สมาคมผู้ผลิตและส่งออกน้ำยางข้นไทย มี นายถาวร เรืองวรุณวัฒนาประธานบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ เป็นคนแรก ได้ใช้สำนักงานของ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด เป็นที่ทำงานชั่วคราว ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ได้รับการอนุเคราะห์ สถานที่จากสมาคมยางพาราไทยเป็นสำนักงานเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมน้ำยางข้นไทย
ข่าวกิจกรรมประจำปีทั้งหมด
สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772 E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org