จับตาทีเด็ด บิ๊ก กยท. เรียกประชุมผู้ประกอบการยาง วันนี้ (8 เม.ย.68) หลัง ภาษีทรัมป์! พ่นพิษ ทุบราคายางร่วงทั้งกระดาน 10-12 บาทต่อกิโลกรัม
โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศวันปลดปล่อยอเมริกา ยุติการค้าที่ไม่เป็นธรรม ดีเดย์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าพื้นฐาน(Baseline Tariff) ในอัตรา 10% กับทุกประเทศที่สหรัฐมีการนำเข้าสินค้า มีผลบังคับใช้ 5 เมษายน และจะเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Trade and Tariff) กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ซึ่งรวมถึงไทยที่ล่าสุดจะถูกเก็บภาษีที่ 36% ในทุกสินค้า มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 โดยสหรัฐมุ่งหวังการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ จะทำให้มีประเทศมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยางพารา จัดเป็นสินค้าลำดับที 4 ของไทย ที่มีผลิตภัณฑ์ยาง อาทิ ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง อัตราภาษีตอบโต้ของไทยสูงกว่าแคนาดา (25%) ญี่ปุ่น (24%) และเกาหลีใต้ (25%) ล่าสุดได้รับผลกระทบจากแรงกระแทกดังกล่าวแล้ว
สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์ราคากลางรับซื้อ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 9.30 น. ราคาปรับลงทุกชนิด ดังนี้
1.ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (ไม่อัดก้อน) ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปรับราคาลงจากวันก่อน 11.71 บาทต่อกิโลกรัม 2.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี (ความชื้นไม่เกิน 3%) ปรับราคาลงมา 58 บาทต่อกิโลกรัม ปรับจากลงจากราคาวันก่อน 10.70 บาทต่อกิโลกรัม 3.น้ำยางสด ราคา 56 บาทต่อกิโลกรัม ปรับลงจากวันก่อนถึง 11.50 บาทต่อกิโลกรัม 4.ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ราคาเหลือ 53 บาทต่อกิโลกรัม ปรับลดลงมา 12.50 บาทต่อกิโลกรัม 5.ยางก้อนถ้วย (DRC 70%) ราคาปรับลงมาเหลือ 37.10 บาทต่อกิโลกรัม ปรับลดลงมา 8.75 บาทต่อกิโลกรัม
แหล่งข่าวผู้ประกอบการค้ายาง เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่าปัจจุบันบริษัทต่างๆ จะซื้อเฉพาะเท่าที่มีคำสั่งซื้อเท่านั้นไม่กล้าที่จะซื้อไปตุนหรือสต็อกไว้ เนื่องจากตอนนี้ทุกคนต้องรอความชัดเจนก่อนภาษี ในวงการยางพารา ยางล้อ เป็นหนึ่งในบัญชี ลำดับ 5 เป็นรายใหญ่ที่ไปสหรัฐอเมริกา จะมีผลกระทบต่อยางล้อหนักที่สุด ก็จะมากระทบกับโรงงานยางแท่ง ไปสู่พี่น้องชาวสวนยางที่ผลิตยางก้อนถ้วย จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ขณะที่คู่ค้ามาเลเซียภาษีเก็บต่ำกว่าไทยอีก ซึ่งก็จะได้เปรียบกว่าไทยอีก ดังนั้นไทยก็จะเสียเปรียบทั้งต้นทุนและภาษีเก็บสูงกว่ามาเลเซียด้วย ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้ได้รับผลกระทบ 100%
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) กล่าวว่า วันนี้ (8 เม.ย.68) กยท.เชิญทุกฝ่ายมาหารือด่วนเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการที่จะดำเนินการต่อไปขอให้พี่น้องเกษตรกรตั้งสติและอย่าซ้ำเติมเหตุการณ์ พร้อมกับจะดำเนินการควบคุมการส่งออก
ต่างคนต่างทำหน้าที่ ถ้ายังไม่หยุดลงราคากันแบบไร้เหตุผล จะงัดมาตรการที่2 ตรวจสัญญาซื้อขายทั้งหมด ถ้าจำเป็นก็จะทำ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |