|
 
 
 
วันที่ / Date 4-7/05/2567
71.70 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 03/05/2567
1,480.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   ลอจิสติกส์ไทยเล็งเทคโนโลยี AI -บล็อกเชน ปูทางสู่ ลอจิสติกส์ ฮับ  new
HERE Technologies เผยผลการศึกษากลุ่มธุรกิจลอจิสติกส์ไทย พบ โดรน ปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง และบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีชั้นนำในอนาคต ปูทางสู่ ลอจิสติกส์ ฮับ ในภูมิภาค
HERE Technologies  ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและข้อมูล Location Data  เปิดเผยผลการศึกษาใหม่ APAC On The Move นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ (Transportation and Logistics หรือ T&L) ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับแนวโน้มและแนวทางปฏิบัติด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนโฉมห่วงโซ่อุปทาน การจัดการยานพาหนะ และการจัดการด้านลอจิสติกส์ พบว่า การติดตามการติดตามสินทรัพย์แบบ End-To-End และเผยให้เห็นการมองเห็นและติดตามสถานะการขนส่ง (Visibility Shipments) นั้นยังเป็นความท้าทายสำคัญของธุรกิจลอจิสติกส์มาตลอดสามปีตั้งแต่เกิดการระบาด
 
บริษัทลอจิสติกส์ไทยตอบแบบสอบถามระบุว่าความท้าทายในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการติดตามและจัดการความเคลื่อนไหวของข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานแบบเรียลไทม์ (Real-Time End-To-End Supply Chain Visibility) นอกเหนือจากจะมีแรงจูงใจในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานก็ตาม
 
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมลอจิสติกส์ของประเทศไทยกำลังเติบโต โดยในปี พ.ศ.  2566 เติบโตเป็นอันดับ 34 จาก 139 ประเทศ ในดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพลอจิสติกส์ (Logistics Performance Index หรือ LPI) ของธนาคารโลกบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพและคุณภาพในบริการลอจิสติกส์ที่ค่อนข้างสูง
 
โดยประเทศไทยยังคงรักษาอันดับผู้นำ โดยทำคะแนน LPI อยู่ใน 11 อันดับแรกของของประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-Middle-Income) ในปี พ.ศ. 2566 และยังอยู่ในอันดับต้นย้อนหลังไปสี่ปี ในปี พ.ศ. 2561, พ.ศ. 2559, พ.ศ.2557 และ พ.ศ. 2555
 
เหตุผลมาจากด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง ประกอบกับความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคมของประเทศไทยที่ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
สำหรับสำคัญจากการศึกษาของ HERE Technologies APAC On The Move 2023 มีดังนี้
 
การนำเทคโนโลยีไปใช้เป็นความท้าทายสำคัญ
 
มากกว่า 1 ใน 5 ของบริษัทในประเทศไทย (22%) ระบุว่าความท้าทายในการหาพันธมิตรและ/หรือซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม และการคำนวณผลตอบแทนของการลงทุนเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการดำเนินการใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้นต้นทุนก็ยังเป็นเรื่องต้องกังวล (17%) เช่นกัน
 
บริษัทลอจิสติกส์ในประเทศไทยต้องการโซลูชันพร้อมใช้ ติดตั้งง่ายค่าใช้จ่ายไม่สูง ใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องใช้ทีมงานจำนวนมากกับการยกเครื่องระบบใหม่ทั้งหมด จากการศึกษาของ HERE ความท้าทายในการผสานรวมซอฟต์แวร์เข้ากับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ (20%) ต้นทุนของ Internet of Things -IoT สูง (15%) และการขาดบุคลากรที่มีทักษะเพื่อใช้และจัดการโซลูชันการติดตาม (14%) ล้วนเป็นอุปสรรคหลักในการติดตามสินทรัพย์ลอจิสติกส์และการตรวจสอบการจัดส่ง/สินค้า
 
ลอจิสติกส์ไทยยังพึ่งพาการติดตามแบบแมนนวล
 
การระบาดใหญ่ของโควิดเผยช่องโหว่ของการเข้าถึงและติดตามข้อมูลด้วยตนเองในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประมาณ 50% ของบริษัทลอจิสติกส์ไทยกำลังใช้ซอฟต์แวร์การติดตามสินทรัพย์และตรวจสอบการจัดส่งร่วมกับการป้อนข้อมูลแบบแมนนวลสำหรับติดตามสินทรัพย์ การจัดส่ง และตู้สินค้า
 
กระบวนการแบบแมนนวลมีโอกาสทำให้เกิดช่องโหว่สูงและยังสร้างความเปราะบางภายในห่วงโซ่อุปทาน แสดงให้เห็นว่าบริษัทจำนวนมากยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น ในขณะที่โซลูชันการติดตามแบบเรียลไทม์และอัตโนมัติ มอบโอกาสในการเร่งสร้างนวัตกรรมและรับมือกับการหยุดชะงักได้ทันท่วงที
 
เทคโนโลยีระบุตำแหน่งเพิ่มการมองเห็น
 
องค์การอนามัยโลกจัดอันดับประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดอันดับ 9 ของโลก อุตสาหกรรมลอจิสติกส์ในประเทศไทยอาศัยภาคการขนส่งทางถนนเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของตลาดลอจิสติกส์ทั้งหมด
 
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่บริษัทลอจิสติกส์ไทยจะให้ความสำคัญกับการมองเห็นและติดตามข้อมูลเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง
 
นอกจากนี้ รายงานยังเปิดเผยว่า 37% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งมีความจำเป็นต่อการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่ เป็นแรงจูงใจหลักสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการซื้อโซลูชันการติดตามทรัพย์สินด้านลอจิสติกส์
 
ขณะที่ 33% ระบุว่า ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์และการรายงานข้อมูล และอีก 30% ระบุว่าเทคโนโลนี้ยังมีความจำเป็นต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานขับรถและพนักงานซ่อมบำรุง
 
มองเทคโนโลยีอนาคตสู่การเป็น  Logistics Hub
 
บริษัทลอจิสติกส์สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบด้วยการติดตามสถานะแบบเรียลไทม์และข้อมูลด้วยเทคโนโลยี IoT การศึกษายืนยันว่าบริษัทลอจิสติกส์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยใช้เทคโนโลยี IoT อยู่แล้ว โดยใช้ในแอปพลิเคชัน IoT สำหรับการจัดการสินค้าคงคลัง (20%) การจัดการยานพาหนะ (18%) และการจัดการห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (18%) เป็นที่นิยมมากที่สุดในบรรดาบริษัทลอจิสติกส์ของไทย
 
เมื่อมองไปในอนาคต พบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทลอจิสติกส์ในประเทศไทยกำลังวางแผนที่จะลงทุนในโดรน (41%) ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (32%)
และบล็อกเชน (32%) เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์ เทคโนโลยีเหล่านี้ภาคธุรกิจลอจิสติกส์ระบุว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (36%) สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด (34%) และเพิ่มรายได้ (32%)
 
นายโยชิคาซุ คุวามุระ หัวหน้าฝ่ายดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันภาคอุตสาหกรรม บริษัท Mitsubishi Corporation สาขาประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ดิจิทัลไลเซชันคือกุญแจสำคัญสำหรับจัดการกับความท้าทายพร้อมปลดล็อคประสิทธิภาพใหม่ ๆ ในซัพพลายเชนปัจจุบัน อย่างไรก็ตามดิจิทัลไลเซชันเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการจัดการซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การทำงานร่วมกันทั่วทั้งซัพพลายเชนถือเป็นสิ่งสำคัญ 
 
ขณะที่นายวิเวก ไวยา  บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิแวน จำกัด กล่าวว่า ในแง่ของการติดตามทรัพย์สินและการตรวจสอบสินค้าระหว่างขนส่ง ธุรกิจซัพพลายเชนและลอจิสติกส์ในเอเชียแปซิฟิกมีการพัฒนาในระดับที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นแบบเรียลไทม์ ธุรกิจต่าง ๆ กำลังมองหาการลงทุนใน IoT, AI และโดรน
 
ในทางกลับกัน หลายบริษัทยังพึ่งระบบแมนนวลเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน และบริษัทเหล่านั้นมีความพยายามที่จะก้าวข้ามไปสู่การใช้โซลูชันที่ทันสมัยขึ้น โดยภาพรวมแล้ว การตระหนักรู้ถึงความสามารถในการมองเห็นสินทรัพย์และยานพาหนะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมหาศาลหลังการแพร่ระบาด และยังมีทีท่าว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 
 
ด้านนายอาบิจิต เซนกุปตา ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย บริษัท HERE Technologies กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเชื่อมธุรกิจและผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน
 
รายงานของเราเผยให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมากของตลาดลอจิสติกส์พร้อมกับศักยภาพการเติบโตที่ยังมีอีกมากรวมถึงนวัตกรรม เราเชื่อว่าเมื่อบริษัทใช้ Location Technology แพร่หลายมากขึ้น ย่อมนำไปสู่โอกาสในการเติบโตสำหรับภาคลอจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนระยะยาว และขยับไปสู่การเป็นลอจิสติกส์ฮับของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
 
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
Update :  22 มิถุนายน 2566     เวลา : 16:16:12 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com