|
 
 
 
วันที่ / Date 4-7/05/2567
71.70 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 03/05/2567
1,480.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   วิกฤติยางพาราไทย ทำมาก..ได้น้อย new

วันนี้พี่น้องชาวสวนยางประเทศไทย ไม่เพียงเจอปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จนรัฐบาลต้องเข็นเงินโครงการประกันรายได้ออกมาพยุงฐานะให้เกษตรกร แล้วไหนประเทศผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ อย่าง ยุโรป สหรัฐอเมริกา ได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพารานำเข้า ต้องได้มาจากสวนยางที่ถูกกฎหมาย มีเอกสารสิทธิ์ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้

แค่นั้นไม่พอ ยังมีปัญหาเก่าๆที่ยังแก้ไม่ได้ นั่นคือ น้ำยางพาราที่กรีดได้ นับวันยิ่งต่ำเตี้ย แพ้ประเทศอื่นไม่สมศักดิ์ศรีผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

หลายคนอาจจะนึกเถียง...เป็นไปได้ยังไงที่ผลผลิตยางพาราของบ้านเราถึงได้ต่ำเตี้ย ในเมื่อเป็นถึงแชมป์ผู้ผลิตยางพาราของโลก

นั่นต้องบอกว่าเป็นเพียงภาพลวงตาที่ทำให้เราหลงตัวเอง เพราะในความเป็นจริงแล้ว...ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นแชมป์กลับมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และยังสู้กับประเทศผู้ผลิตรายอื่นอีกหลายประเทศไม่ได้

ที่สำคัญนับวันผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ยังย่ำแย่กว่าในอดีต ทั้งที่เรามีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะ มีงบประมาณ มีการทำวิจัยพัฒนาพันธุ์ยางมาอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปี 2554 ประเทศไทยมีเนื้อที่กรีดยางได้ 12.766 ล้านไร่ ได้ผลผลิต 3.349 ล้านตัน...เฉลี่ยไร่ละ 262 กก.

ถึงจะเป็นแชมป์ได้ผลผลิตรวมมากที่สุดในโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ผลิตได้มาก 10 อันดับแรกของโลก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเราอยู่ที่อันดับ 4 เป็นรอง อินเดีย, เวียดนาม และโกตดิวัวร์ (ไอเวอรีโคสต์) ที่ได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 294, 275 และ 274 กก. ตามลำดับ

เวลาผ่านมาถึงปี 2563 ประเทศไทยมีต้นยางพาราให้กรีดได้เพิ่มขึ้นมาได้ 81.376 ล้านไร่ ได้ผลผลิตรวม 4.86 ล้านตัน...เฉลี่ยไร่ละ 221 กก.

มีพื้นที่กรีดยางมากขึ้น 6 เท่าตัว ได้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นแค่ 1.45 เท่า...ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่น้อยกว่า 10 ปีก่อน 41 กก.

ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตยางพารา 10 อันดับแรกของโลก ผลผลิตเฉลี่ยต่อไรของเราหล่นไปอยู่ที่อันดับ 6 เป็นรอง กัวเตมาลา, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และโกตดิวัวร์

ทำไมแชมป์โลกผู้ผลิต ถึงมีผลผลิตถดถอย เป็นเพราะอะไร???

“สาเหตุที่ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของเราถดถอย กรีดยางได้น้อยกว่าในอดีต นอกจากจะเป็นเพราะราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้ผันผวน ไม่จูงใจให้เกษตรกรดูแลใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยาง อีกสาเหตุที่น่าจะเป็นปัจจัยหลัก นั่นคือการใช้ระบบรับจ้างกรีดยาง ที่มีการแบ่งรายได้ 50: 50 ระหว่างเจ้าของสวนยาง กับคนรับจ้างกรีดยาง”

ครูสะเอ็ม บุญเสนา กูรูคนปลูกยางพารา อ.โคกศรีสุพรรณ์ จ.สกลนคร ที่สามารถแก้ปัญหาหน้ายางตายให้กลับมามีชีวิต กรีดวันเว้นวันได้เฉลี่ยต้นละ 1.2 กก. จนเจ้าของสวนยางพาราจากทุกสารทิศต้องมาเรียนรู้ดูงาน ให้มุมมองในฐานะผู้มากประสบ การณ์จากข้อมูลพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ

เนื่องจากระบบรับจ้างกรีด ทำให้ต้นยางพาราโทรมเกินกว่าที่ควรจะเป็น ถ้ากรีดกันแบบวันเว้นวันและมีการบำรุงดูแลที่ดี ต้นยางจะมีอายุยืนให้กรีดได้นานถึง 50–60 ปี

“แต่ระบบกรีดยางแบ่งคนละครึ่ง คนกรีดมักจะห่วงแต่รายได้ตัวเองเป็นหลัก อยากจะได้เงินทุกวัน นอกจากจะกรีดยางทุกวัน ไม่มีวันหยุดพัก ทำให้ต้นยางไม่พักฟื้นตัวเอง จนไม่มีน้ำยางจะให้กรีด บางสวนถึงขนาดต้องคว่ำจอก แต่กระนั้นคนรับจ้างกรีดยางยังดันทุรังกรีดให้ได้ ไปเอาน้ำยาเร่งน้ำยางมาใช้ ต้นยางเลยโทรมไปกันใหญ่ นอกจากจะทำให้ได้น้ำยางน้อยลงยังทำให้ต้นยางมีอายุกรีดได้แค่ 20 ปีต้องโค่นทิ้ง บางสวนขนาดโค่นตัดต้นไปแล้ว ยังไม่มีน้ำยางออกมาจากรอยตัดเลย คิดดูว่าระบบนี้มันทำให้ต้นยางเสียหายไปเท่าไร มันเลยส่งผลให้ภาพโดยรวมของผลผลิตยางพาราของบ้านเรา ดูน้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ที่การยางแห่งประเทศไทยตั้งเป้าสวนยางควรจะให้ผลผลิตไร่ละ 336 กก.ต่อปี”.

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

Update :  28 เมษายน 2566     เวลา : 15:37:46 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com