นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2557 31 สิงหาคม 2567
ทั้งนี้ จากการประเมินผลโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่า สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถแปรรูปยางพาราเป็นยางแท่ง ยางคอมปาวด์ ยางแผ่นรมควันยางอัดก้อน ฯลฯ สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 31,965 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 3,552 ล้านบาท ซึ่งนับว่าโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราได้ เนื่องจากสหกรณ์เกิดสภาพคล่องมีเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำในการรวบรวมและแปรรูปยางพารา
รวมถึงการช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีแหล่งขายยางพาราในพื้นที่ มีรายได้จากการจำหน่ายยางพาราในราคายุติธรรม ช่วยพยุงราคาและช่วยแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงจะขอขยายเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปยางพาราของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับซ่อมแซม ปรับปรุงโรงงานแปรรูปยางพาราที่ได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตหรือจัดสร้างโรงงานใหม่
อีกทั้งยังมีสถาบันเกษตรกรอีก หลายแห่งที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ และมีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อต้องการเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำเสริมสถาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและปรับปรุงโรงงานแปรรูปยางพาราให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
การขยายโครงการฯ จะช่วยให้การฟื้นฟูสถาบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบมีความเข้มแข็งได้เร็วขึ้น รวมไปถึงช่วยสถาบันเกษตรกรรายใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีเงินลงทุนต่อยอดธุรกิจให้กับสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เพื่อขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา ภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ วงเงิน 5,000 ล้านบาท
ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการดังกล่าวออกไปอีก 10 ปี (1 กันยายน 2567 - 31 สิงหาคม 2577) คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ซึ่งมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นแหล่งเงินทุน โดยรัฐบาลสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3 ต่อปี และสถาบันเกษตรกรจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สมทบ ร้อยละ MLR-3 ต่อปี และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ นำมติดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ รวมไปถึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำรายละเอียดโครงการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |