ประวัติความเป็นมาของสมาคมน้ำยางข้นไทย
1) ความเป็นมา ปี 2529 2530 ผู้ประกอบการยางพาราไทย ได้ขยายการลงทุนผลิตน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีเพิ่มขึ้นมากจากปัญหา โรคเอดส์ ต่อมาประมาณกลางปี 2530 ผู้ผลิตน้ำยางข้นไทยประสบปัญหาเรื่องภาษีอากรขาออกน้ำยางข้นไปต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจัดเก็บในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันได้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำยางข้นจึงร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้รัฐบาลของ ฯพณฯ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ทราบ และต่อมานายประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางมารับทราบปัญหาจากผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น ที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2530 และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2530 ผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น ได้เสนอหนังสือแจ้งร้องเรียนถึงความเดือดร้อนดังกล่าวต่อรัฐบาล ผ่านทางหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 รัฐบาลเห็นชอบให้มีการแก้ไขปัญหาโดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการลงทุน ( BOI ) และกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติยกเว้นการเรียกเก็บภาษีอากรขาออกแก่ผู้ผลิตน้ำยางข้นเป็นเวลา 1 ปี ( เดิมเก็บอัตราภาษีส่งออก 30 %ของราคาขาย ) ทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้
2) การจัดตั้งเป็นชมรม
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 กลุ่มผู้ประกอบการผลิตน้ำยางข้น นำโดย นายยศ พันธุ์พิพัฒน์ ประธานบริษัท นาบอนรับเบอร์ แอนด์ ลาเท็กซ์ และคณะ ได้ประชุมร่วมกันที่ โรงแรม ไทยโฮเต็ล
อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม จึงได้ลงมติเห็นชอบร่วมกันให้จัดตั้ง ชมรมผู้ผลิตน้ำยางข้นแห่งประเทศไทย และจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 โดยมีผู้ก่อตั้งทั้งหมด 5 บริษัท บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด , บริษัท นาบอนรับเบอร์ จำกัด , บริษัท ที . ที . ลาเท็กซ์ แอนด์โปรดักส์ จำกัด , บริษัท ศรีเจริญลาเท็กซ์จำกัด ที่ประชุมเลือก นายยศ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นประธานชมรมฯ เป็นคนแรกชมรมผู้ผลิตน้ำยางข้นแห่งประเทศไทย จึงเป็นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกในปัญหาต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารในทุกเรื่อง ทั้งเทคนิคในการผลิต แรงงาน การตลาดต่างประเทศ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับยางพาราของรัฐบาล
3) การจัดตั้งเป็นสมาคม
พ.ศ. 2538 คณะกรรมการชมรมฯ ได้หารือกันเพื่อยกฐานะขององค์กร จากชมรม มาเป็นสมาคม เพื่อรองรับกิจกรรมที่มีมากขึ้น จึงได้ขออนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าและได้รับใบอนุญาตสมาคม
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 ใช้ชื่อ สมาคมผู้ผลิตและส่งออกน้ำยางข้นไทย มี นายถาวร เรืองวรุณวัฒนา ประธานบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมฯ เป็นคนแรก ได้ใช้สำนักงานของ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด เป็นที่ทำงานชั่วคราว ต่อมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2547 ได้รับการอนุเคราะห์ สถานที่จากสมาคมยางพาราไทยเป็นสำนักงานเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2547 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมน้ำยางข้นไทย
4) การจัดหาสำนักงานถาวร
ปี 2552 สมาคมน้ำยางข้นไทย สมาชิกฯ ได้ร่วมมือกันบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อซื้ออาคารสำนักงาน
เป็นที่ทำการของสมาคมน้ำยางข้นไทย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 เลขที่ 60 ถนนโชติวิทยะกุล 3
ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 และย้ายที่ทำการของสมาคมเมื่อวันที่ 25
กุมภาพันธ์ 2553 ทำพิธีเปิดที่ทำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2554
5) กิจกรรมของสมาคม
ตลอด 48 ปี ของการรวมตัวเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นจนสามารถตั้งเป็นสมาคมน้ำยางข้นไทย ทำให้สมาคมฯ เป็นศูนย์กลางของการดำเนินธุรกิจน้ำยางข้น และได้ขยายกิจกรรมออกไปเรื่อย ๆ จนเป็นที่รู้จัก
ในวงการอุตสาหกรรมยาง และได้ร่วมกิจกรรมทั้งภาครัฐ องค์กรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ
6) การบริหารจัดการ
6.1 คณะผู้บริหาร จนถึงปัจจุบัน มีนายกสมาคมฯ ดังมีรายนามต่อไปนี้
สมัยที่ 1 |
วาระปี 2539 - 2541 |
ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 2 |
วาระปี 2541 - 2543 |
ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 3 |
วาระปี 2543 - 2545 |
ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒน |
สมัยที่ 4 |
วาระปี 2545 - 2547 |
ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 5 |
วาระปี 2547 - 2549 |
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล |
สมัยที่ 6 |
วาระปี 2549 - 2551 |
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล |
สมัยที่ 7 |
วาระปี 2551 - 2553 |
ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 8 |
วาระปี 2553 - 2555 |
ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 9 |
วาระปี 2555 - 2557 |
นายอภิชาติ พันธุ์พิพัฒน์ |
สมัยที่ 10 |
วาระปี 2557 - 2559 |
นายอภิชาติ พันธุ์พิพัฒน์ |
สมัยที่ 11 |
วาระปี 2559 - 2561 |
นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 12 |
วาระปี 2561 - 2563 |
นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 13 |
วาระปี 2563 - 2565 |
นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา |
สมัยที่ 14 |
วาระปี 2565 - 2567 |
นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล |
สมัยที่ 15 |
วาระปี 2567 - ปัจจุบัน |
นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล |
6.2 นโยบายบริหารของสมาคมน้ำยางข้นไทย
- 6.2.1 ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในทุกมิติเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้สามารถขายยางได้ในราคาที่ยุติธรรม
- 6.2.2 ส่งเสริมและสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่สมาชิก
- 6.2.3 เพื่อให้สินค้าน้ำยางข้นของไทยมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ต้องการของลูกค้า ทั้งในและต่างประเทศ
- 6.2.4 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ของสมาชิกและประเทศไทย
- 6.2.5 เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญในด้านต่างๆ ให้แก่สมาชิกอย่างสม่ำเสมอและทันสมัย
- 6.2.6 ประกาศราคาวัตถุดิบน้ำยางสด และน้ำยางข้นประจำวัน
- 6.2.7 ดำเนินกิจกรรมของสมาคมทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงมีการเยี่ยมเยียน สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าต่างประเทศ
- 6.2.8 เป็นผู้นำ และให้ความร่วมมือสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา โดยเน้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำยางข้นเป็นหลัก
- 6.2.9 บริหารและดำเนินการกิจกรรมของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสมาคมฯ อย่างเคร่งครัด
7) จำนวนสมาชิก
ปัจจุบันสมาคมน้ำยางข้นไทย มีสมาชิกทั้งหมด 82 ราย ประกอบด้วย
- 7.1 สมาชิกสามัญ จำนวน 46 ราย
- 7.2 สมาชิกวิสามัญ จำนวน 33 ราย
- 7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ จำนวน 3 ราย
- รวมมีสมาชิกสมาคมน้ำยางข้นไทย ทั้งสิ้น 82 ราย
|