รับซื้อขายยางพาราดิบ ... ต้องขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง
รู้หรือไม่? นอกจากอุตสาหกรรมยางรถแล้ว ยางพารายังใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง?
ที่นอน รองเท้า กระเป๋า ถุงมือ ลูกโป่ง กรวยยางสำหรับงานจราจร ยางปูพื้น ตุ๊กตายาง บล็อกแม่พิมพ์ ต่าง ๆ นานา ไปจนถึงใช้ผสมยางมะตอยเพื่อทำถนนอีกด้วย
มากมายคุณประโยชน์ของยางพาราเช่นนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเอาเสียเลย โดยปัญหาหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากการประกอบกิจการเกี่ยวกับยางพารา ก็คือ น้ำเสียและกลิ่นเหม็นจากยางพารา
อุทาหรณ์จากคดีปกครองในฉบับนี้ ... เป็นกรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งประกอบกิจการรับซื้อขายยางพาราดิบ (ยางพาราถ้วย) จากชาวสวนยางพารา โดยได้รับใบอนุญาตค้ายาง แต่มิได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบและเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการไว้เป็นการชั่วคราว
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งแต่ถูกยกอุทธรณ์ จึงฟ้องนายกเทศมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ต่อศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและขอให้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตลอดจนค่าแรงคนงานที่ต้องกู้ยืมมาใช้จ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า คำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ส่วนกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่าไม่สมควรออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่ผู้ฟ้องคดี ก็ต้องมีคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ มิใช่ชะลอการออกใบอนุญาตโดยไม่มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด
จึงรับฟังได้ว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ผู้ฟ้องคดียื่นอุทธรณ์ว่า คำสั่งที่ให้ตนหยุดประกอบกิจการนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีประกอบกิจการซื้อขายยางพาราดิบ และได้รับใบอนุญาตค้ายาง แต่มิได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวน) จึงเป็นการประกอบกิจการสะสมยางดิบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นายกเทศมนตรีจึงได้จัดให้มีการประชุมประชาคม เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาต ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสีย และนายกเทศมนตรีได้มีคำสั่งแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีแก้ไขเหตุรำคาญดังกล่าว แต่เหตุรำคาญยังคงมีอยู่
กรณีถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นและน้ำเสียแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง อันเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ฯ เพื่อเป็นการระงับเหตุเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบที่จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน สั่งให้ผู้ฟ้องคดีหยุดดำเนินกิจการไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะดำเนินการให้ปราศจากอันตรายแล้วได้
กรณีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้องในประเด็นตามที่มีการอุทธรณ์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 290/2566)
สรุปได้ว่า ผู้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขและข้อบัญญัติท้องถิ่น เช่น กิจการรับซื้อขายยางพาราดิบ นอกจากจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ยังต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วย และต้องประกอบกิจการโดยมีมาตรการป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญที่เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ดังเช่นกรณีพิพาทที่นำมาฝากนี้ ...
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
|