|
 
 
 
วันที่ / Date 22/11/2567
66.40 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 21/11/2567
1,560.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   กนย.ไฟเขียว ขยายสินเชื่อ รักษาเสถียรภาพราคายาง 1.5 หมื่นล้าน new

เกษตรกร –สถาบันเครือข่ายฯ กยท. ขอบคุณ กนย.ไฟเขียวขยายสินเชื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 15,000 ล้าน พ่วงมาตรการข้อเสนอชาวสวนยาง เพื่อช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรตามเป้าหมายนโยบายรัฐ

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าวันนี้ (14 พ.ย.67) ที่ประชุม กนย.ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการขยายสินเชื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 1.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท และ 2.ขยายระยะเวลาสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้ขอบคุณทางรัฐบาลและ กยท. และนายสุขทัศน์ ต่างวิระกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. ที่รับปากจะดำเนินงานตามข้อเรียกร้องของสมาคม อาทิ การใช้เอทิธีน เพิ่มผลผลิตยาง ล่าสุด ทางกรมวิชาการเกษตร ได้อนุมัติให้ใช้ห้องปฎิบัติการในประเทศไทยได้ในการตรวจผลวิเคราะห์ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้ห้องปฎิบัติในต่างประเทศในการรับรอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมทั้งการเปลี่ยนพันธุ์ 2 RRIM600 ออกจากยางชั้น 1 และส่งเสริมให้ปลูกยางที่มีผลผลิตสูงก่วา R600 เท่าตัว

อย่างไรก็ดี ในปี 2568 ทางสมาคมฯจะจัดงาน "มหกรรมยางพาราและเกษตรแฟร์ EEC" (ครั้งที่ 3) โดยจะร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อดึงนักลงทุนจาก 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และผู้ที่สนใจจะลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราทั่วโลก เพื่อจัดประชุมวิชาการยางนานาชาติโลก คาดว่าจะได้รับความสนใจ เนื่องจากประเทศไทย ปลูกยางพาราอันดับ 1 ของโลก ซึ่งจะใช้เวทีนี้ในการนำนักลงทุนเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด(ระยอง)เพื่อดึงการลงทุน เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ราคายางพาราของไทยมีเสถียรภาพ จากมีการลงทุนและใช้วัตถุดิบยางพาราในประเทศมากขึ้น

“มาตรการต่าง ๆ ที่อนุมัติในครั้งนี้เป็นมาตรการที่ดี แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอ่อนประชาสัมพันธ์ เกษตรกรเข้าไม่ถึงโครงการ ดังนั้นอยากจะฝากเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย “ นายอุทัย กล่าว

ด้านนายเขศักดิ์ สุดสวาท ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางภาคอีสานตอนล่าง และนายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนย. กล่าวสอดคล้องกันว่า ต้องขอบคุณรัฐบาล และ กนย. ที่ได้เห็นความสำคัญของสถาบันเกษตรกร โดยจะส่งผลดีทำให้สถาบันเกษตรกรช่วยเก็บและดึงยางพาราในตลาดมากขึ้น แม้จะเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มเพราะขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ออกไปอีก 4 ปี (ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2567 - 31 มี.ค. 2571) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนย. ยังมีมติเห็นชอบ ขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางออกไป 2 ปี ( ตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2566 - 31 ธ.ค. 2568) พร้อมทั้งขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ เพื่อให้ กยท. สามารถระบายยางในสต๊อกให้แล้วเสร็จพร้อมกันภายในปี 2568 กรณีไม่ทันตามกำหนดเวลา ให้นำเสนอเพื่อผ่านความเห็นชอบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ที่ประชุม กนย. ได้มอบหมายให้ กยท. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดทุกโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยถึงสาเหตุที่ต้องถอดถอนวาระโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาทออกไป เนื่องจากเห็นว่ามีการผูกขาดและได้รายเดิม กระจายไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องทบทวนโครงการ ซึ่งต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กยท.ใหม่

 


ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

Update :  14 พฤศจิกายน 2567     เวลา : 17:11:25 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com