สภาหอการค้าฯ - ม.หอการค้า มอง กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% สอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศ ลดการกดดันเงินบาทแข็ง เอื้อการส่งออก –การท่องเที่ยว สามารถแข่งขันได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการประชุม กนง. ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % เหลือ 2.25% นั้นหอการค้าฯ เชื่อว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม กับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งให้ค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยว สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น และดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนต้องแบกรับ
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศว่า นโยบายทางการเงิน และ นโยบายทางการคลังของประเทศไทย สอดคล้องไปในทางเดียวกัน
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเห็นชอบ 5 ต่อ 2 เสียง จุดที่สำคัญ กนง. คาดว่ามีการไตร่ตรองแล้วโดยดูจากสภาพตลาด สภาพเศรษฐกิจ โดยการลดดอกเบี้ยก็ถือว่าเป็นทิศทางที่เหมาะสม และมุมมองทั่วไปก็ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมองจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของเศรษฐกิจชะลอตัวลง และยังไม่ฟื้นอย่างชัดเจน ซึ่งสังเกตได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง 7 เดือน และดัชนีหอไทยที่ปรับตัวลดลง ซึ่งดัชนีทั้ง 2 รายการเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน ซึ่งบ่งบอกว่ามาตรการรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาท ไม่สามารถกระตุกเศรษฐกิจได้
ขณะที่นโยบายการคลังการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นและเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ซึ่งนโยบายการคลังยังไม่สามารถกระตุกเศรษฐกิจได้
2. อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับเป้าหมาย เพราะเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดอยู่ที่ 0.6% และเฉลี่ย 9 เดือน 2567 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%
3. สถานการณ์ที่ประเทศไทยดำเนินการคือเข้าไปดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่า ปัจจัยที่ต้องลดดอกเบี้ยจะทำให้ส่วนต่างของไทยกับสหรัฐฯ แคบลง เพราะเดิมทีดอกเบี้ย สหรัฐฯ อยู่ที่ 5.5% เพดานดอกบี้ยไทยอยู่ที่ 2.5% ต่างกัน 3% ปัจจุบันสหรัฐฯลดดอกเบี้ย 0.5% รวมถึงทำให้ทางประเทศไทยลดภาระในการแทรกแซงค่าเงิน
ขณะที่ธนาคารกลางก็ปรับลดดอกเบี้ยของโลก ฉะนั้นดอกเบี้ยของประเทศไทยควรจะลดลงตาม และสหรัฐฯก็ยังมีแนวโน้มว่าจะลดดอกเบี้ยอีกในเดือนพฤศจิกายนอีก 0.25%
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 6 - 9 เดือนข้างหน้า แต่มันจะลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในทันที ซึ่งปี 2567 ก็ยังมองเศรษฐกิจไทยจะโตที่ 2.6 – 2.8% จากการที่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |