บิ๊กเอกชน ลุ้น กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบกว่า 1 ปี ช่วยลดภาระทางการเงิน ฟื้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ชี้หากรอหลังเฟดลดดอกเบี้ยอีกรอบ บาทยังแข็งค่ากระทบหนักส่งออก ระบุดอกเบี้ยเงินกู้จริงในตลาดยังสูงถึง 5-10% “WHA-ศุภาลัย”วอนปรับลด ชี้ลดดอกทุก 1% เพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคได้ 6%
วันที่ 16 ต.ค.2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง หลัง กนง.ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2566 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.00% เป็น 2.50% และจากนั้นได้มีการประชุม กนง.อีก 6 ครั้ง (ครั้งล่าสุดเมื่อ 21 ส.ค. 2567) และมีมติยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% มาจนถึง ณ ปัจจุบันนานกว่า 1 ปีแล้ว โดยมองว่ายังเป็นอัตราที่อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน
ทั้งนี้ในการประชุม กนง.วันที่ 16 ต.ค. นักเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยทางการเงินส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม จากยังมีความกังวลในหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนได้ออกมาส่งเสียงสะท้อนเหตุผลว่า ถึงเวลาแล้วที่ กนง.ควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในมุมมองหอการค้ามั่นใจว่า กนง.จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับที่เหมาะสมและตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างถี่ถ้วนให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ซึ่งที่สุดแล้วจะมีมติหรือตัดสินใจอย่างไรคงไม่อาจไปก้าวล่วงต้องรอผลการพิจารณาและเคารพในมติที่จะออกมา
อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต้องแบกรับ หากมีการปรับลดลงได้อีกก็จะช่วยได้มาก ซึ่งภาคเอกชนได้สะท้อนเรื่องนี้มามากแล้ว หากดอกเบี้ยลดก็จะส่งผลถึงอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป จะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้นซึ่งเชื่อว่าหากสามารถทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายนี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หาก กนง.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบนี้ลงอย่างน้อย 0.25% จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออก รวมถึงช่วยลดต้นทุนด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากเวลานี้เงินบาทแข็งค่ามากเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจากเงินริงกิตของมาเลเซีย กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงของผู้ส่งออก ส่งผลถึงรายได้ กำไร บางรายถึงขั้นขาดทุน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในฐานะผู้ส่งออก มองว่าจะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง และก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ
ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถาบันการเงิน สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่เวลานี้อยู่ที่ 5-7% รายกลาง-รายย่อยอยู่ที่ 8-10% หรือ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 1% กว่า ๆ และสูงสุดอยู่ที่ 2% หรือ 2% กว่า
สำหรับในการประชุม กนง.ในครั้งนี้ คงขึ้นกับการพิจารณา และลงมติว่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ เพราะเอกชนเข้าใจถึงการทำงานของ กนง.ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล และแบงก์ชาติ ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ดูปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินอย่างเดียว แต่ยังดูถึงสภาพและทิศทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ดูเรื่องเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน สภาพคล่องในระบบการเงิน ภาคธุรกิจกู้เงินยาก ดอกเบี้ยแพง เรื่องภัยธรรมชาติ เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ และอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ
ดังนั้นต้องรอลุ้นว่า กนง.จะมีมติเป็นอย่างไรในรอบนี้ ซึ่งหากจะรอให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงอีกรอบในปลายปีนี้ก่อนถึงจะปรับลดตาม ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก และจะกระทบกับภาคการส่งออกมากขึ้น ภาครัฐอาจจะตามแก้ปัญหาไม่ทัน
ด้าน นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ภาคธุรกิจนำมาพิจารณาในการประกอบธุรกิจ ที่ผ่านมามองว่า กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% มานานแล้ว น่าจะมีการพิจารณาปรับลดลงมาบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลง
ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยจะมีผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน เวลานี้ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต่างลดดอกเบี้ย มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นแรงกดดันให้ประเทศไทยลดดอกเบี้ยตามมา
โดยการลดดอกเบี้ยทุก 1% จะสามารถเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ถึง 6% รวมถึงจะช่วยลดภาระสำหรับคนที่มีหนี้สินจะผ่อนสบายขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง ธนาคารได้ลดต้นทุน และเพิ่มวงเงินสำหรับผู้ที่ขอสินเชื่อใหม่ให้กู้ซื้อบ้านได้มากขึ้น ดังนั้นจะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวม และอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ไม่สามารถตอบแทน กนง.ได้ว่าจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ต้องรอดูพร้อม ๆ กัน แต่ส่วนตัวมองว่าควรจะมีการลดดอกเบี้ยอย่างที่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด
ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังต้องการจุดเปลี่ยนในเชิงบวก จากผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อ เพียงแต่ว่ายังไม่มีปัจจัยใดมาช่วยส่งเสริมให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น มีแต่ปัจจัยลบ เช่น ดอกเบี้ยแพง ขอสินเชื่อไม่ผ่าน ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ผู้บริโภคที่มีความสามารถในการซื้อหรือผ่อนชำระไม่กล้าออกมาซื้อ หากในช่วงปลายปีนี้มีข่าวดีเกิดขึ้นในตลาด เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯได้มากทีเดียว
ส่วน นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในตอนแรกเข้าใจว่าไทยจะมีการลดดอกเบี้ย ตามการลดดอกเบี้ยของเฟด แต่ล่าสุดคาด กนง.จะยังไม่ลดในรอบนี้ เนื่องจากการประชุมเฟดในวันที่ 7 พ.ย.นี้ มองว่ามีแนวโน้มที่เฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยอีกครั้ง รวมถึงภาวะสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่คาดว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการลดดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้
นายภูมิภักดิ์ จุลมณีโชติ ประธานผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดอกเบี้ยสำคัญมากต่อการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ หาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง จะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะกู้ได้ง่ายขึ้น และหากมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับสินเชื่อบ้านโดยเฉพาะก็จะดี แต่ต้องระวังไม่ให้ปัญหาสินเชื่อลุกลามขึ้นมาบนเซ็กเมนต์ที่สูงกว่า 7 ล้านบาท ซึ่งหากเงินบาทยังคงแข็งค่า จะส่งผลต่อการชะลอการตัดสินใจของต่างชาติที่จะเข้ามาซื้อ ดังนั้น ธปท.คงต้องทำหน้าที่ที่ทำให้ค่าเงินบาทไม่ผันผวน ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ตัดสินใจที่จะเดินทางมาเที่ยว เพราะในทางปฏิบัติคนที่ตัดสินใจเดินทาง ก็เดินทางอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะส่งผลต่อการใช้จ่าย เมื่อเขาเดินทางมาไทย ที่อาจจะประหยัดการใช้จ่ายลงกว่าเดิมบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะมีผลต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตามยังหวังว่าบาทแข็งค่าจะเป็นเพียงระยะสั้น คงต้องจับตานโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า จะมีมาตรการที่ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพขึ้นได้อย่างไร เพราะทางสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ลดดอกเบี้ยรอบเดียว น่าจะมีอีกรอบ หากไทยไม่ได้เตรียมตัวอะไร ก็อาจจะกระทบกระเทือนได้ในรอบที่ 2
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |