“ยางพารา” นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน “สงขลา” และเป็นลมหายใจของเกษตรกรในสหกรณ์ยางพารา รวมถึงแปรรูปยางพาราพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “ยางแผ่นรมควัน” ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างมาก
ทว่ากระบวนการผลิตมีต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากต้องใช้ฟืนไม้เป็นเชื้อเพลิงและมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพ นอกจากนี้ตลอดทั้งกระบวนการผลิตยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2558 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่นเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน โดยนำร่องต้นแบบ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง
ยกระดับ “ยางพารา” ใช้ก๊าซชีวภาพรมควัน
ที่ผ่านมา โครงการนี้ก็ได้พัฒนาต่อยอดโดยประยุกต์ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับลดค่าไฟฟ้าในการผลิตยางแผ่น และหมุนเวียนใช้น้ำทิ้งจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ โดยนำมาบำบัดและหมักเป็นก๊าซชีวภาพในระบบปิด เพื่อช่วยขจัดกลิ่นเหม็นรบกวน อีกทั้งยังนำก๊าซที่ได้ไปใช้ในการรมควันยางแผ่นร่วมกับไม้ฟืน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนนำน้ำทิ้งที่อุดมด้วยสารอาหารไปใช้เป็นปุ๋ยน้ำแก่สวนยางพาราโดยรอบ
ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุดที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพแผ่นรมควันแล้ว ยังทำให้การผลิตยางแผ่นรมควันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงรับซื้อน้ำยางที่ผ่านมาตรฐาน EUDR (European Union Deforestation-free Regulation) เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางแผ่นรมควันถึง 8%
ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการปลูกและการผลิตยางพารา ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ช่วยลดการใช้ฟืนได้ประมาณ 30% ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี โดยสหกรณ์ในจังหวัดสงขลาที่อยู่ภายใต้โครงการ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 425 ตัน/ปี
สหกรณ์ยาง Carbon Neutral แห่งแรก
และเมื่อปี 2565 ต่อยอดสู่โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Lower Carbon Biogas Rubber Project) โดยผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์ของยางแผ่นรมควันลุล่วง
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของประเทศไทย เพื่อนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรก
ทั้งนี้ ตลอดการดำเนินงาน เชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ด้วยงบประมาณรวมกว่า 10.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันในระดับชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนในระยะยาว
“เชฟรอน” สนับสนุนสงขลาต่อเนื่อง 40 ปี
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ในฐานะบริษัทพลังงาน ที่ผู้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 6 ทศวรรษ เชฟรอนมีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการทำโครงการเพื่อสังคมที่มีกลยุทธ์ใน 4 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การส่งเสริมการศึกษา และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
“จังหวัดสงขลาเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอนที่ผูกพันกันมายาวนานกว่า 40 ปี ทั้งนี้ ในการทำโครงการเพื่อสังคม เรามุ่งให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงจุด และสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน”
โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบ และพัฒนาพลังคน อาทิ โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การสนับสนุนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา และโครงการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลา
ซึ่งล้วนเห็นผลความสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสงขลาได้อย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |