|
 
 
 
วันที่ / Date 22/11/2567
66.40 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 21/11/2567
1,560.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   บุกเบิกยางบึงกาฬ 20 ปี จากอีสานเขียว “พินิจ” ลุยสู่ EUDR new

สถานการณ์ราคายางพาราปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกชนิด ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ทำลายสถิติไปสู่ 96 บาท/กก. สูงสุดในรอบ 12 ปี ไม่นับรวมยางแผ่นรมควันชั้น 1 ที่ทะลุ 100 บาท/กก.ไปแล้วเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2567 พลิกฟื้นสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในหลายจังหวัด

โดยเฉพาะเมืองหลวงยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่าง “บึงกาฬ” เกษตรกรได้รับอานิสงส์ถ้วนหน้า “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “พินิจ จารุสมบัติ” ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ในฐานะแกนนำผู้บุกเบิกอาชีพปลูกยางพาราในจังหวัดบึงกาฬมากว่า 20 ปี จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกนับล้านไร่

เช็กเงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนมิถุนายน 2567 เงินเข้าวันไหน
คลังอัพเดต ออมสิน-ธ.ก.ส. ปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบแล้วกว่า 587 ล้านบาท
เปิดชื่อ คนดัง นักวิชาการ ผ่านการเลือก สว.ระดับอำเภอใน กทม.-เมืองใหญ่
เศรษฐกิจบึงกาฬ
ตอนนี้เศรษฐกิจบึงกาฬจะพึ่งพารายได้จากยาง 80% ของทั้งหมด ถือว่าเป็นจังหวัดที่ปลูกยางมากที่สุดในอีสาน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 8 แสนไร่ กระแสการปลูกยางบึงกาฬทำให้เกิดความนิยมการปลูกยางกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ไปจนถึงภาคเหนือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พะเยา น่าน

“การปลูกยางที่บึงกาฬได้เป็นการเปลี่ยนความเชื่อในอดีตว่ายางปลูกได้เฉพาะภาคใต้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เมื่อเสริมระบบน้ำเข้าไป ยางที่ปลูกก็งอกงาม และปัจจุบันในสวนของผมขยายไป และมีการปรับปรุงเพิ่มพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น สับปะรด กาแฟ หรือมะละกอ ใต้ต้นยางตรงร่องกลาง และตรงไหนชื้นลงปลูกปาล์ม ตรงไหนแล้งก็ปลูกพะยุง และยังมีการปลูกไม้ผลเสริม เช่น เงาะ ทุเรียน ก็สามารถทำได้ และให้ผลผลิตดีเช่นกัน”

วันนี้ภาพของบึงกาฬเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งโครงสร้างและกำลังการผลิต แต่เดิมบึงกาฬมีการทำการเกษตรพืชหลัก คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ดินไม่สามารถพัฒนาไปปลูกพืชเศรษฐกิจได้ เพราะขาดระบบชลประทาน ขาดการพัฒนาเรื่องดิน เรื่องปุ๋ย เรื่องเมล็ดพันธุ์ ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่บึงกาฬ

จุดเริ่มต้นในการพัฒนายาง
ตอนนั้นเราเป็นผู้แทนฯ (สส.) ก็มีเจ้าหน้าที่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรชาวสวนยางมาหา เพื่อขอให้ช่วยปลูกยางนำร่อง เพราะหวังว่าชาวบ้านจะเชื่อ ตอนนั้นเขาไปรณรงค์คนยังไม่ค่อยนิยม มีเพียงกำนัน และผู้ใหญ่บ้านปลูก 5-7 ไร่ อย่างมาก และมีครูที่เกษียณแล้วก็ปลูก ตอนนั้นบึงกาฬยังไม่แยกจากหนองคาย

“การส่งเสริมตอนนั้นเพราะได้รับงบประมาณในการจัดทำเบี้ยยาง รณรงค์การปลูกยางของโครงการอีสานเขียว ในสมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นอกจากยางแล้วก็มีมะม่วงหิมพานต์ โค ต้นกระถินเทพา ผมตัดสินใจปลูกเพราะเห็นใจข้าราชการที่มาหาทุกวันที่กลับมาบึงกาฬ เขาจูงใจชาวบ้านไม่ได้ ผมก็เลยลองปลูก แต่ท่านสุเมธ สส.คู่แฝดผมปลูกยูคาลิปตัส กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังไม่ค่อยมีใครเชื่อว่ายางจะเป็นพืชเศรษฐกิจได้ จึงมีผมปลูกอยู่คนเดียว ผมเห็นว่าที่ราคาถูก กล้ายางที่โครงการจัดทำไว้มีเหลือจำนวนมากเป็นแสนต้น”

“พอมีการทดลองปลูกพืชยางพาราปรากฏว่าปลูกได้ ในช่วงเริ่มต้นงอกงามได้ แต่ชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อว่าถึงปลูกได้แล้วยางจะเติบโตและได้น้ำยางจริง คำถามที่สองคือ ไม่มีคนไม่มีโรงงานมารับซื้อแล้วจะไปขายให้ใคร และปัญหาสำคัญตอนนั้นคือ ปลูก 7 ปี ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งชาวบ้านบอกว่าเขารอไม่ได้ เขาจึงไปปลูกต้นยูคาลิปตัสไปส่งขายให้โรงงานกระดาษ

เพราะชาวบ้านขาดเงินทุน ถ้ารอยางเค้าต้องไปขายแรงงาน ไม่สามารถมาทำเกษตรได้ ปัญหาและอุปสรรคขณะนั้นมีมาก และประกอบกับมาเจอภัยแล้งอีก ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังออกมาน้อยได้ไร่ละ 3-4 ตันก็ขาดทุน ก็เลยต้องปล่อยรกร้างจนกลายเป็นป่าหญ้าคา จะไปปลูกอ้อยก็น้ำหนักไม่ได้ ผลตอบแทนไม่สามารถเลี้ยงดูชีวิตเกษตรกรได้ รายได้ไม่พอค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย”

ยางไม่ใช่อาชีพในฝัน
“ยอมรับว่าการปลูกยางไม่ใช่ความฝันของผม ผมตั้งใจจะทำรีสอร์ต บูทีคสวย ๆ ทำโรงงานอุตสาหกรรมสบาย ๆ ไม่ได้คิดว่าจะทำเกษตรเลย แต่พอลองปลูกไปแล้วกลับชอบ ยางให้ผลผลิตดี ซึ่งยางที่ปลูก ผมดูแลเองหมด จากการศึกษาด้วยตัวเอง ผมแก้ปัญหาชลประทาน ด้วยการซื้อเครื่องปั๊มสูบน้ำขึ้นสวน

ตอนแรกที่ทำสวนแรก 300 กว่าไร่ ซื้อแปลงแรกราคาที่ดินถูกมาก ไร่ละ 2,500 บาท ซื้อต่อจากคนอุดรที่มาปลูกอ้อย แต่เขาถูกขโมยอ้อยไปขาย เพราะเขาไม่สามารถจะดูแลได้ พอซื้อที่มาปี 2535 เริ่มปลูกยางปี 2539 และมากรีดได้ปี 2546 มาถึงวันนี้ครบ 20 ปี ลงทุนไม่ถึงล้าน แต่ผมไม่คิดว่ามันจะให้ผลเป็นบวกอย่างมหาศาลต่อจังหวัดบึงกาฬ”

หลังจากที่ผมเริ่มปลูก 4 ปี ก็มีสมัครพรรคพวกลูกน้องตามปลูก จนถึงวันนี้ วันแรกมี 3-4 คน คนละ 300-400 ไร่ ก็รอดหมด ทำให้มีฐานะดี มีรายได้ซื้อรถ ส่งลูกไปเรียนหนังสือดี ๆ เขารู้ผมขับเคลื่อนเรื่องนี้ และยังมีการทำกล้ายางแจกด้วย

“จากที่ไม่ทำเกษตร แต่ผมปลูกเองเหมือนเกษตร หรือเก่งกว่าเกษตร รู้ว่าต้องหันเอากล้ายางไปทางไหน ต้องลึกเท่าไร รองก้นหลุมอย่างไร หรือต้นกล้าแล้วเราบอกได้เลยว่าต้นไหนไม่รอด ดูรากต้นกล้ายางก็รู้แล้ว ถ้าเราแกะถุงดำออกมาแล้วรากพันกันต้องตัดทิ้ง ไม่อย่างนั้นมันจะตาย และเราต้องรู้ว่าต้นไม้เจริญเติบโตด้วยการสังเคราะห์แสง มีฝนมีน้ำ ดินดี บางคนบอกว่าปลูกหน้าแล้ง ลูกน้องอีสานบอกว่า มันเฮ็ดบ่ได้ (ทำไม่ได้) นาย ผมบอกว่าเฮ็ดได้เฮ็ดโลด (ทำได้ทำเลย) 45 วันมันแตกยอดมา

เพราะเรามีน้ำ มีแดด มีปุ๋ย ต้นยางของผมไม่ต้องรอถึง 7 ปีก็กรีดได้แล้ว เพราะวัดจากต้นขึ้นมา 120 ซม. จากแต่ก่อนต้อง 150 ซม. ส่วนเส้นรอบวงต้อง 50 ซม. ก็กรีดได้แล้ว แรก ๆ ผมฝึกกรีดด้วยยางผมกรีด 7 มีด 15 วัน บางสวนแค่ 3-4 มีดก็ไปขายแล้ว นั่นจึงทำให้ยางผมมีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นน้ำยางสูง”

คุณภาพน้ำยาง
ต้นพันธุ์ยางที่ปลูกในภาคอีสานและภาคใต้ จะใช้พันธุ์เดียวกัน คือ RM600 สำหรับปลูกในที่ดอน และ RM251 สำหรับปลูกในที่แฉะ คำว่า RM มาจาก Research Malaysia Instituted Technology เพราะเราไม่มีพันธุ์ของตัวเอง

ลุยต่อ EUDR
พินิจเน้นย้ำว่า ยางเป็นพืชชนิดเดียวที่ไม่มีสต๊อก เพราะปลูกได้เท่าไรมีผู้รับซื้อหมด แต่จุดเปลี่ยนของยางไม่ใช่เพียงแค่ราคา ตอนนั้นราคายางก้อนถ้วย 10 กว่าบาท ตอนนี้ 40 กว่าบาท แต่คือการพัฒนาสวนยางให้ได้ตามมาตรฐาน EUDR คือ ต้องมีโฉนด มีเอกสารสิทธิ ทำให้ได้ราคาดี โดยชาวสวนที่ทำ EUDR ได้ ทางผู้รับซื้อบวกให้อีก 2 บาทต่อ กก.

“ไร่ของผมตอนนี้ทำได้ครบทุกไร่แล้ว ตลาดยุโรปกำหนดมาตรฐานนี้ ทั้งที่เมืองไทยวันนี้ จริง ๆ เราทำคาร์บอนเครดิตไม่ถึง 1% ถือว่าน้อยมาก แต่ยุโรปบังคับ ส่วนตลาดจีนยังไม่บังคับเรื่องนี้ ยางที่สวนผมสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานของสากล ทั้งเรื่องความเข้มข้น การใช้สารเคมี ไม่มีส่วนผสมปลอมปน ส่งตรงไปมิชลินเลย ทำยางรถแข่ง”

ชาวสวนกับเจ้าของสวนมีการแบ่งปันผลประโยชน์ 50 : 50 เพราะคนงานหายาก แต่เราให้เยอะ เพียงแต่ขอให้กรีดและใส่ปุ๋ย นอกจากนี้เรายังดูแลทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ลูกเข้าโรงเรียน ให้ยืมเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย แต่หักรายรับมาใช้ ตอนนี้มีคนกรีด 200-300 คน หลักการบริหารของผมคือความจริงใจ และความยุติธรรม เราไม่ใช่เอาแต่ได้ เราต้องแบ่งปันให้ลูกน้องให้เค้าอยู่ได้ ผมจึงมีลูกน้องอยู่กันนาน 30-40 ปี อยู่กันจนค่อย ๆ ตายไป

มองว่ายางจะเป็นพืชเศรษฐกิจได้
ยางเป็นพืชที่มีอนาคต เพราะเป็นยุทธปัจจัยที่จำเป็นต่ออุปกรณ์ที่จำเป็นทางการทหาร ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยยางเป็นส่วนประกอบ หรือแม้แต่ยานยนต์ เครื่องบิน ก็ยังต้องมียางเป็นส่วนประกอบ และยางธรรมชาติก็มีข้อดีมากกว่ายางสังเคราะห์ เพราะตอนนี้มีความขัดแย้งของโลก รบกัน เกิดสงครามการค้า บางประเทศก็ไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน พอไปซื้อสินค้าของโรงกลั่นเพื่อมาทำยางสังเคราะห์ก็แพง และสู้ยางธรรมชาติไม่ได้

และถ้าเทียบกันแล้ว รายได้จากการปลูกข้าวได้ 29,000-32,000 บาท/ไร่ ส่วนการปลูกยางเหมือนได้ เดือนละเป็นแสนบาท เป็นพืชที่ปลูกแล้วไม่ต้องดูแลรักษามาก และอัตราแลกเนื้อสูงมาก (ผลตอบแทน) และที่สำคัญ ปลูกยางเหมือนมีตู้เอทีเอ็มอยู่กับตัว ถ้าไม่กรีดไปขายก็เก็บน้ำยางไว้ เมื่อไรอยากได้เงินค่อยกรีดไปขาย ไม่เหมือนพืชอื่นอย่างมันสำปะหลังขุดแล้วต้องขายเลย ไม่ขายก็เน่า นั่นจึงเหมือนมีตู้เอทีเอ็ม

หนุนแปรรูป-สร้างราคาอ้างอิงยาง
“ตอนที่ยางไปต่ำมาก ๆ เราก็ยังอยู่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วต้นทุนยางไม่มากเท่าไร เพียงแต่มีคนเอาเรื่องในวงการยางมาเป็นเรื่องทำมากิน นำมาเป็นเรื่องการเมือง วันนี้รัฐบาลไม่ต้องชดเชยอะไร เพียงแต่ขอให้ทำเรื่องการตลาด รัฐบาลส่งเสริมการแปรรูป ตั้งสถาบันเทคโนโลยีพัฒนายางขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงการแปรรูป จัดตั้งกองทุนให้กับคนที่มีทาเลนต์เก่งเรื่องการแปรรูป ให้คนที่มีความสามารถแต่ไม่มีทุนได้มีโอกาสพัฒนาได้ ทำเพียงเท่านั้น วงการยางก็จะเติบโตได้”

ส่วนเรื่องราคายาง หลายคนยังไม่รู้ว่าตอนนี้ใครเป็นคนกำหนดราคายาง ราคาฮั่งเส็งอยู่ที่ไหน ราคายางเมืองไทย มาเลเซีย หรือประเทศผู้ปลูกอื่น ๆ ไม่มีสิทธิไปกำหนดราคายางเลย ในอดีตตลาดที่กำหนดราคายาง คือ TOCOM คือตลาดล่วงหน้าสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำการซื้อขายทั้งทองคำ น้ำตาล ยาง ถั่วเหลือง ถั่วแดง ทองแดง อยู่ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซื้อปีนี้รับมอบปีหน้า

ฉะนั้น คนต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการกำหนดราคายางมาจากที่ไหน ราคายางอยู่ที่ TOCOM/SYCOM ที่ญี่ปุ่น และวันนี้มีตลาด เซี่ยงไฮ้คอมโพสิท เพราะจีนเป็นผู้บริโภคอันดับแรกใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนไทยพยายามทำตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า AFET แต่ล้มไป ซึ่งเรื่องนี้เราต้องได้ผู้บริหารที่มีความรู้และความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ เพราะถ้ากำหนดฮั่งเส็งได้ เราจะกลายเป็นเจ้ามือซึ่งมันดีกว่ามาก

“การส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้กำหนดราคายางในตลาดโลกได้เองนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะอย่างแม้แต่ข้าวยังไม่สามารถกำหนดราคาได้เลย วันนี้ข้าวปทุมตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ถ้าไปขอขายแล้วคนซื้อไม่ให้ก็ไม่ได้ วันนี้เราจึงต้องส่งเสริมการแปรรูป ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยมีความคิด มีเทคโนโลยี มีทุน อย่างการแปรรูปเป็นล้อยางดีมาก”

“ตอนนี้มีผู้ผลิตล้อยางไทยหลายคนเกิดขึ้น ไทยฮีโร่เคยเป็น OEM ให้กับอพอลโล่ของอินเดีย วี รับเบอร์ และที่สำคัญอีกเรื่อง ปุ๋ยต้องพึ่งตัวเองให้ได้ และเรื่องผลผลิตของยาง เราต้องมีข้อมูลที่แม่นยำ เช่น รัฐบาลแจ้งว่ายางให้ผลผลิตต่อไร่ 222 กิโลกรัม/ไร่/ปี ส่วนของผม 300 กว่ากิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ซึ่งสะท้อนเรื่องการดูแลเรื่องปุ๋ย พื้นที่ให้รับแสงได้ดี ปีนี้ผมอยากให้มีการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่อั้นมา เพราะความสำเร็จของงานคือเกษตรกรได้รับความรู้ในการพัฒนายางต่อไปในอนาคต”

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Update :  10 มิถุนายน 2567     เวลา : 14:46:26 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com