กยท. Kick off เปิดประมูลยาง EUDR ราคาแตะ 94บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าราคายางทั่วไป อยู่ที่ 74 บาท พร้อม กำหนดเปิดประมูลยาง EUDR ผ่านตลาดกลางฯ กยท. ทุกวันพฤหัส
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กยท. ให้ความสำคัญ และเร่งพัฒนากระบวนการบริหารจัดการผลผลิต และการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อรองรับกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรปจะดำเนินการบังคับใช้กับสินค้ายางพาราด้วย โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กยท. ประเดิมเปิดการประมูลยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาผลผลิตเป็นไปตามกฎ EUDR
ซึ่งมีบริษัทผู้ซื้อที่ต้องการยางสูงเข้ามาร่วมประมูลยาง EUDR ทำให้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปิดราคาสูงสุดที่ 94.01 บาทต่อกิโลกรัม ยางก้อนถ้วย DRC 100% ปิดราคาสูงสุดที่ราคา 66.80 บาทต่อกิโลกรัม และ ยางก้อนถ้วย DRC 65% ปิดราคาสูงสุดที่ 43.42 บาทต่อกิโลกรัม . นับเป็นทิศทางที่ดีของการเริ่มต้นซื้อขายยาง EUDR ที่เป็นรูปธรรม เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในฐานะผู้ผลิตยางได้ค่าตอบแทนและรายได้ที่สูงขึ้นจากเดิม เป็นการผลิต และบริหารจัดการยางพาราที่คุ้มค่า สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ และยังเป็นส่วนหนึ่งในช่วยส่งเสริม และรักษาสิ่งแวดล้อมโลกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ กยท. จะกำหนดการเปิดตลาดประมูลซื้อขายสินค้ายาง EUDR สัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 - 14.00 น. เพื่อรองรับความต้องการของตลาด คาดว่า หลังจากผลผลิตกลับสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน นี้ และระบบตรวจสอบย้อนกลับมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น จะเปิดวันทำการประมูลยาง EUDR เพิ่มต่อไป ทั้งนี้ กยท. เตรียมเชิญผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมประชุม เพื่อประเมินประสิทธิภาพการขับเคลื่อนตลาดสินค้ายาง EUDR ของ กยท.ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ EUDR เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สู่สหภาพยุโรป
“กลไกของตลาดกลางยางพาราจะเป็นเครื่องมือการซื้อขายยาง EUDR ที่สะท้อนราคายางให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของตลาดโดยระบบการจัดการตลาดกลางฯ และเชื่อมโยงข้อมูลยางของ กยท. จะสามารถตรวจสอบ และป้องกันความซ้ำซ้อน และการบิดเบือนข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางในการสำแดงสินค้าที่จะนำเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้”
ในขณะที่การประมูลยางทั่วไป ณ ตลาดกลาง จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 30 เม.ย.67 ประเภทยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ราคาปิดที่ 75.46 บาท
“กยท.ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรไทยก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน ด้วยการจัดการทรัพยากรการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) จึงผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และผู้ประกอบกิจการยางพาราไทยมีการจัดการข้อมูลยาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) และมาตรฐานระดับสากลต่างๆ “
เชื่อมั่นว่าการดำเนินมาตรการเชิงรุกที่มุ่งผลักดันระบบการจัดการข้อมูลยางพาราไทยภายใต้กฎระเบียบ EUDR และมาตรฐานสากลอื่นๆ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของโลก จะเกิดผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไทย นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คือ เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |