|
 
 
 
วันที่ / Date 22/11/2567
66.40 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 21/11/2567
1,560.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   คาร์บอนเครดิต ทางรอดใหม่ของอุตสาหกรรมยางไทย new

Krungthai COMPASS เปิดบทความ "คาร์บอนเครดิต ทางรอดใหม่ของอุตสาหกรรมยางไทย" โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก จากข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีการผลิตยางพาราอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน หรือมีสัดส่วน 31.5% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง จากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีน ที่เป็นผู้นำเข้ายางพาราไทยอันดับ 1 มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกร และผู้ประกอบการยางพารามีแนวโน้มลดลง  

ที่ผ่านมาภาครัฐนำโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงได้มีการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา นโยบายกระตุ้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปยาง โดยเป็นการดึงภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับ กยท. ในการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา

อีกทั้งในปี 2567 ยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร และต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น

 

อนึ่ง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นประเด็นที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของภาคธุรกิจ จากการที่หลายประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net ZeroEmissions) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

รวมถึงการเพิ่มการกักเก็บ/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้เริ่มปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไปสู่ธุรกิจยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมยางพาราไทย จากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้มีนโยบายส่งเสริมการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราไทย

อีกทั้งยังสอดรับกับความต้องการคาร์บอนเครดิต เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย CarbonNeutral และ Net Zero Emissions ของทั้งใน และต่างประเทศ 

บทความฉบับนี้ Krungthai COMPASS จึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาร่วมกันหาคำตอบว่า ทำไมคาร์บอนเครดิตจึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยางพาราไทย หากผู้ประกอบการยางพาราขายคาร์บอนเครดิตจะส่ง ผลดีต่อผลประกอบการอย่างไร

โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราเสียก่อน

 

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

คาร์บอนเครดิตคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายได้ โดยผ่านตลาดคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ (อบก. 2566) หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ ได้แก่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยตลาดคาร์บอนเครดิต อนึ่ง ตลาดคาร์บอนโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่

1) ตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่ประกาศเป็นกฎหมาย และมีบทลงโทษเมื่อมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มาตรการ EU ETS ในสหภาพยุโรป

และ 2) ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจที่เกิดจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ

ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยเป็นตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ ซึ่งเป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER 

ทั้งนี้ จากสถิติการขึ้นทะเบียนโครงการ ของ อบก. ตั้งแต่ปี 2557-2567 (เดือนก.พ.) พบว่า มีโครงการ T-VER ที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. รวมทั้งสิ้น 375 โครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้รวมกันประมาณ 12 MtCO2eq/ปี

โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนที่มีการขึ้นทะเบียนจำนวนมากที่สุดคิดเป็น 50% ของจำนวนโครงการทั้งหมด แต่สำหรับโครงการภาคเกษตรนั้นยังมีจำนวนน้อยมีเพียง 6 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นโครงการของสวนยางเพียง 4 โครงการ หรือคิดเป็น 1.1% ของโครงการทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่น

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ทาง กยท. ดำเนินการนำร่องโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา เพื่อที่สนับสนุนให้เกษตรกร และผู้ประกอบการยางพาราเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้มากขึ้น  

ซึ่งคาดว่าความพยายามในการขับเคลื่อนโครงการนี้ของ กยท. จะมีส่วนช่วยให้มีการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในสวนยางจำนวนเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดซัพพลายของคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางมีขั้นตอนอย่างไร

คาร์บอนเครดิตที่จะสามารถซื้อขายได้ในไทยนั้น จะต้องผ่านกระบวนการ 1) การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VERและ 2) การรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากโครงการฯ โดย อบก. ซึ่งสำหรับโครงการ T-VER ในพื้นที่สวนยางพารา จะมีเงื่อนไขเป็นไปตามโครงการ T-VER ภาคเกษตร มาตรฐานไม้ผลไม้ยืนต้น

โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง สามารถซื้อขายได้ผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter: OTC) หรือผ่านแพลตฟอร์มหรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX)

ปัจจุบันคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองภายใต้มาตรฐาน T-VER ยังเป็นเพียงเพื่อการใช้ประโยชน์และซื้อขายภายในประเทศเท่านั้น หากผู้ขายต้องการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีหลายมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน VerifiedCarbon Standard (VCS/VERRA) ซึ่งครอบคลุมกว่า 42% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตทั่วโลกในปี 2565

 

ทำไมคาร์บอนเครดิตจึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมยางพารา

1. ยางพาราเป็นพืชยืนต้นที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพืชยืนต้นประเภทอื่นดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ อบก. ยางพารา 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 47.4KgCO2eq/ปี ซึ่งมากกว่าไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ เมื่อเทียบกับต้นกระถินยักษ์และกระถินเทพาที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 36.5 และ 34.2KgCO2eq/ปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ เนื่องจากต้นยางพารามีลำต้นหลักเพียงต้นเดียว ไม่มีการแตกกอเหมือนกับพืชยืนต้นประเภทอื่น กอปรกับเส้นรอบวงของต้นที่เพิ่มขึ้นราว 6.9 เซนติเมตร/ปี ทำให้มีมวลชีวภาพเหนือดินสูงส่งผลให้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงตามไปด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ยางพารา 1 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 4.2 tCO2eq/ปี

อย่างไรก็ดี อายุของต้นยางพารามีผลต่ออัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้นยางที่มีอายุ 
6-10 ปี หรือต้นยางพาราที่เริ่มกรีดน้ำยางได้ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากที่สุด ซึ่งอยู่ที่ 4.9 tCO2eq/ไร่/ปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ต้นยางพารามีการเติบโตดี

รองลงมาคือ ยางพาราที่มีอายุ 11-15 ปี ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 4.4tCO2eq/ไร่/ปี โดยศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงเมื่อต้นยางมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป

2. โอกาสในการขยายพื้นที่สวนยางพารา เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอน-เครดิตยังมีอยู่อีกมาก โดยในปี 2566 ไทยมีพื้นที่ในการเพาะปลูกยางพาราราว 24.9 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ยังมีจำนวนไม่มาก ปัจจุบันมีอยู่เพียง 3.7 หมื่นไร่ คิดเป็นเพียง 0.1% ของพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ และมีจำนวน 4 โครงการ จากทั้งหมด 375โครงการ T-VER ที่มีการขึ้นทะเบียนกับ อบก.

ปัจจุบันโครงการ T-VER ในสวนยางพาราคาดว่าจะดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อยู่ที่ 156,626 tCO2eq/ปี คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.3% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะดูดซับได้ต่อปีของโครงการ T-VER ที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด

นอกจากนั้น ปริมาณคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราที่ผ่านการรับรองจาก อบก. แล้ว มีอยู่ราว 14,450 tCO2eq คิดเป็นเพียง 0.1% ของปริมาณคาร์บอนเครดิตทั้งหมดที่ผ่านการรับรองจาก อบก.

ทั้งนี้ จากข้อจำกัดบางประการ จึงทำให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VERในสวนยางพารายังมีไม่มากนัก เช่น ความพร้อมในด้านองค์ความรู้และเงินทุน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น 

3. ภาครัฐให้การสนับสนุน โดยเป็นโครงการที่ กยท. ดำเนินการเพื่อที่จะยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการยางพารา อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย CarbonNeutral ในปี 2593 และ Net Zero Emissions ในปี 2608 โดยทาง กยท. จะเป็นตัวกลางในการดำเนินการ และร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของราชการ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ ภาครัฐได้เล็งเห็นข้อจำกัดหลายประการ จึงได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อที่จะผลักดันให้เกษตรกร และผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารามากขึ้น 

เช่น ในปี 2567 จะมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยางพารา และการจัดทำโฉนดต้นยางพารา เพื่อให้เกษตรกรนำไม้ยางพาราในพื้นที่ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินของรัฐบาล เพื่อที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการยางพาราหันมาเข้าร่วมโครงการนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนั้น ในอนาคตคาดว่าทาง กยท. มีแผนที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยหรือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีพื้นจำกัด โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการรวมกลุ่ม และเป็นผู้พัฒนาโครงการแทนผู้ประกอบรายกลุ่มนี้

รวมทั้ง กยท. จะเป็นตัวแทนในการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ทาง กยท. จะนำมาหักกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินโครงการ เช่น ค่าใช้จ่ายในกระบวนการพัฒนาและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER รวมทั้งการขอรับรองคาร์บอนเครดิต หลังจากนั้นจะนำรายได้สุทธิมาจัดสรรให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการยางพาราที่เข้าร่วมโครงการผ่านสถาบันการเงินของรัฐ

 

โอกาสจากการแปลงพื้นที่สวนยางเป็นคาร์บอนเครดิต

Krungthai COMPASS มองว่าหากผู้ประกอบการได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราจะสร้างโอกาสได้หลายประการ โดยผู้ประกอบการยางพาราที่เข้าร่วมโครงการ T-VER และขายคาร์บอนเครดิตจะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปริมาณการส่งออกยางพาราที่มีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้  ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการยางพาราที่เป็นผู้พัฒนาโครงการและผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ต้องการใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการในพื้นที่สวนยางพารา เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset)

โอกาสที่ 1: เพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นให้กับผู้ประกอบการ

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพาราจะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ โดยผู้ประกอบการที่มีพื้นที่สวนยางพารา และต้องการขายคาร์บอนเครดิต จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน และเงื่อนไขที่ อบก. กำหนด คือ 

1) การพัฒนา และขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และ 2) การรับรองคาร์บอนเครดิตหรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถดูดซับได้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ 7 ปี อยู่ที่ราว 84-614 บาท/ไร่/ปี สำหรับโครงการที่มีพื้นที่ระหว่าง 100-5,000 ไร่ 

โดยกรณีตัวอย่างของผู้ผลิตน้ำยางข้นที่มีพื้นที่สวนยางพารา และทำการขายคาร์บอนเครดิต จะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ราว 805 บาท/ไร่ ซึ่งสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงถึง 6.2% หากภาครัฐมี นโยบายในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการพัฒนาและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และการขอรับรองคาร์บอนเครดิตตลอดอายุโครงการ

 

หากไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ประกอบการรายย่อยจะมีความเสียเปรียบทางด้านต้นทุน โดยพื้นที่โครงการขนาดใหญ่จะมีต้นทุนต่อหน่วยในการพัฒนาและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขอรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตตลอดอายุโครงการที่ต่ำกว่าโครงการขนาดเล็ก จากตัวอย่างโครงการที่มีพื้นที่ 1,000 ไร่ จะมีต้นทุนดังกล่าวเฉลี่ยต่อผลผลิตอยู่ที่ 0.8 บาท/กก. ขณะที่โครงการที่มีพื้นที่ 100 ไร่จะมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 บาท/กก. หรือมีต้นทุนมากกว่าถึง 3.4 เท่า

การสนับสนุนของภาครัฐจึงมีผลอย่างยิ่ง ต่อการเพิ่มขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการรายย่อย โดยหากผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าวทั้งหมด การดำเนินโครงการในพื้นที่ 100 ไร่ จะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายคาร์บอนเครดิต ได้เพียง 1.1% เทียบกับกรณีที่ดำเนินโครงการในพื้นที่ 1,000 ไร่ จะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้สูงถึง 4.8%

รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตช่วยลดผลกระทบจากปริมาณการส่งออกยางที่มีแนวโน้มลดลงได้ 

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วง ปี 2560-2566 ปริมาณการส่งออกยางพาราของไทยมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยปีละ 4.8% (CAGR) ขณะที่ราคาคาร์บอนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปี 2567 ราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยของไทย อยู่ที่ราว 191 บาท/tCO2eq ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5.6 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 

นอกจากนั้น รายงาน State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของ World Bank ระบุว่า ในอนาคตคาดว่าราคาคาร์บอนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากการที่หลายธุรกิจจำเป็นต้องมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยราคาคาร์บอนที่จะผลักดันให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions จะอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/tCO2eqในปี 2573 จากระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/tCO2eq ในปี 2563 

โอกาสที่ 2: ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ ได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น ที่มีการส่งออกมีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศสูงถึง 1.7MtCO2eq จากปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติราว 2.7 ล้านตัน โดยประเมินจากค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติทั้ง 3 ประเภท

ซึ่งในผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และน้ำยางข้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 0.5, 0.6 และ 0.7 tCO2eq/ตันผลิตภัณฑ์ตามลำดับ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอุตสาหกรรมยางพาราก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

Krungthai COMPASS ประเมินว่าคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยต่อปีที่ได้จากการดำเนินโครงการขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ มีสัดส่วนเทียบเท่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติราว 6-8% ของปริมาณการผลิต 1 แสนตัน โดยกรณีน้ำยางข้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 7.8% ขณะที่กรณีการผลิตยางแผ่นรมควัน และยางแท่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 6.6% และ 6.0% ตามลำดับ

ดังนั้น เมื่อได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพาราแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำมาชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการผลิตของตนเองได้ เพื่อเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ก่อนที่จะนำคาร์บอนเครดิตส่วนที่เหลือไปเหลือไปขายให้กับองค์กรอื่นที่ต้องการ

 

ภายในปี 2568 คาดว่าจะมีสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER อย่างน้อย 8.7 หมื่นไร่ ซึ่งมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ราว 366,626 tCO2eq/ปี 7 จากปี 2566 ที่มีสวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนโครงการ 
T-VER อยู่ที่ 3.7 หมื่นไร่

โดยอ้างอิงจากมาตรการสนับสนุนของ กยท. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่จะนำสวนยางของเกษตรกร 5 หมื่นไร่ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VERกับ อบก. และคาดว่า กยท. จะขยายผลไปยังพื้นที่สวนยางพารา 10 ล้านไร่ ภายในปี 2573 เป็นไปตามแผนของนโยบายส่งเสริมการขายคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา ซึ่งจะมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยได้สูงถึง 42 MtCO2eq/ปี

หากได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. ปริมาณคาร์บอนเครดิตของสวนยางพารานับว่าเป็นส่วนที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกระแสความตื่นตัวและความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจที่จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้ ไปสู่ธุรกิจยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งนี้ การศึกษาของ อบก. คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีความต้องการคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 182.23 - 197.23MtCO2eq/ปี ขณะที่ในช่วงปี 2562-2566 มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจาก อบก. เฉลี่ยอยู่ที่ 3 MtCO2eq/ปี

 

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมยางพารา ดังต่อไปนี้

• ผู้ประกอบการที่มีพื้นที่สวนยางพาราควรเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และมุ่งสู่การขอรับรองคาร์บอนเครดิตในระยะข้างหน้า หากต้องการรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ทั้งในแง่ของการสร้างรายได้ และการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การวางแผนพัฒนาพื้นที่โครงการให้เป็นไปตาม เงื่อนไขของ อบก. และการรวบรวมข้อมูลการใช้ปุ๋ย และสารปรับสภาพดินไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นต้น 

ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ประกอบธุรกิจยางแปรรูปกลางน้ำ และปลายน้ำที่มีสวนยางพารา ถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านพื้นที่ และเงินทุน ดังนั้น เพื่อที่สร้างโอกาส และความได้เปรียบผู้ประกอบการจึงควรริเริ่มพัฒนาโครงการ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากประโยชน์ทางด้านรายได้ ยังควรพิจารณาที่จะนำคาร์บอนเครดิตจากสวนยางพารามาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมภาพรวมขององค์กร เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งไว้

เช่น เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยควรเริ่มต้นจากการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรของตนเอง เพื่อวางแผน และประเมินการใช้คาร์บอนเครดิตในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสม 

สำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ที่มีพื้นที่สวนยางพาราไม่มาก เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยในการพัฒนาโครงการลดลง และได้รับกำไรที่เพิ่มขึ้น ควรที่จะมีการรวมกลุ่มในการพัฒนาโครงการ และขอรับรองคาร์บอนเครดิต เช่น อาจมีการรวบรวมพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการ T-VER ในสวนยางพาราในนามของสมาคมผู้ประกอบการยางพาราในภายในพื้นใกล้เคียงกันหรือวิสาหกิจชุมชน รวมถึงอาจมีการติดต่อกับ กยท. ในระดับพื้นที่ เพื่อรับความช่วยเหลือทางด้านข้อมูล และองค์ความรู้ต่างๆ

• ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา ตลอดจนสนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงการไปสู่มาตรฐานระดับสากล โดยควรเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงโอกาสทางธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการ T-VER และได้รับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้ ด้านเงินทุน 

รวมทั้งควรมีแนวทางในการสนับสนุนในระยะยาวอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และสามารถยกระดับมาตรฐานโครงการไปสู่ระดับสากลได้ เช่น การจัดสรรงบประมาณประจำสำหรับโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางพารา สนับสนุนการรวมกลุ่มสวนยางพาราในพื้นที่เพาะปลูกยางพาราหนาแน่น เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย ตลอดจนร่วมมือกับสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการยางพาราที่สนใจ เป็นต้น

 

ที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ

Update :  13 มีนาคม 2567     เวลา : 09:33:11 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com