จาก การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ออกประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางพาราก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นการปรับหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่1พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา มีปัญหาเกษตรกรต้องรอคิวยาวนานมาก จากขึ้นอยู่กับงบประมาณในแต่ละปีว่าจะจัดสรรเท่าไร โดย กยท. จะแจ้งให้เจ้าของสวนยางทราบล่วงหน้าว่า จะได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนในปีใด จึงจะได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทนในอัตราไร่ละ 16,000 บาทในปีนั้น
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนยางทั่วประเทศ ตั้งแต่ก่อนมารับตำแหน่ง ว่า กยท.ได้มีการออกหลักเกณฑ์ในเรื่องการการส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกแทน มีความไม่เป็นธรรม และต้องรอคิวยาวมาก บางรายรอคิว 2-3 ปี ซึ่งก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (เงิน CESS) เก็บที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเชื่อว่าผู้ส่งออกหักจากการขายวัตถุดิบของชาวสวนยาง ดังนั้นสวัสดิการตรงนี้ชาวสวนยางก็ต้องได้ ซึ่งได้ให้นโยบายไปแล้วว่าจะต้องเคลียร์ทั้งหมด 1.68 แสนไร่ที่ยังตกหล่นให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567 แล้วต่อไปเกษตรกรสามารถขอเป็นรายปีได้ปกติ แต่ถ้าปีใดขอแล้วไม่มาตามคำขอ จะถูกขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามมาขอสงเคราะห์ใหม่ 1-2 ปี ไม่เช่นนั้นจะเป็นการไปกันสิทธิ์คนอื่น
แหล่งข่าว กยท. กล่าวว่า จากนโยบายของบอร์ด กยท.ที่ต้องการจัดการในเรื่องเจ้าของสวนยาง ยื่นขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทนมีคำขอเวลานี้เกิน 1.68 แสนไร่ ในปี 2567 จะปรับลดเหลือ 90% หรือเท่ากับ 151,255 ไร่ คาดว่าจะต้องใช้เงิน 871.531 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนนี้ใช้จ่ายจากกองทุนพัฒนายางพาราที่คงเหลือจากการจัดสรรปี 2567 โดยตัดโอนจากมาตรา 49 (2) เดิมค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 588.531 ล้านบาท (3) เดิมเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในด้านการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การผลิต การแปรรูป การตลาด และการดําเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบ จำนวนเงิน 203 ล้านบาท และ (4) เดิมเรื่องงานวิจัย จำนวน 80 ล้านบาท ก็จะมาใช้เคลียร์บัญชีทั้งหมด ซึ่งปีต่อไปจะเป็นปีปัจจุบันตามคำขอของเกษตรกรชาวสวนยางในปีนั้นไม่สะสมอย่างทุกวันนี้
ด้านนายนิกร ลิขิตหวังพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชูศักดิ์ แอนด์ พรรณี ลีดเดอร์ จำกัด และอดีตนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย เผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนเน้นพึ่งพาตนเองในประเทศมากขึ้น มีการสร้างงาน และมีดัชนีชี้วัดความเจริญของแต่ละมณฑล ส่งผลให้โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราในจีนมีการนำเข้าไม้ยางพาราจากไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลไทยส่งออกไม้ยางพาราไปจีนในปี 2567 เพิ่มขึ้น โดยมีการส่งออกมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20-30% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี ทำให้ราคาไม้ยางในประเทศต่อไร่ ปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 40,000-50,000 บาท (ขึ้นอยู่กับคุณภาพ) จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่
“ปัจจุบันงบส่งเสริมการโค่นยางปลูกแทนต่อปีเฉลี่ย 3-4 แสนไร่ เหลือแค่ 2 แสนไร่ โดยทางสมาคมมีการประเมินต้นไม้ยางในประเทศมีประมาณ 25 ล้านไร่ทั่วประเทศ หากไม่มีการปลูกใหม่ 10 ปี เชื่อว่ายังมีซัพพลายในประเทศเพียงพอที่จะป้อนโรงงานเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ดีในส่วนของชาวสวนที่มีการโค่นต้นยางไปแล้ว ไม่รองบสนับสนุนจาก กยท. ก็อยากให้ทางการจ่ายชดเชยให้ด้วย เนื่องจากการจัดเก็บเงินเซสส์ ก็มาจากชาวสวนยาง ที่ผู้ส่งออกมาหักกับต้นทุนในการขายผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด” นายนิกร กล่าว
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
สมาคมน้ำยางข้นไทย 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110 Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772 E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org