เปิดตัว “ยาง GPS”
“นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ยางมีพิกัด (ยาง GPS) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ถึงแหล่งที่มาของพื้นที่ปลูกยางได้ว่าไม่ได้มาจากการรุกป่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน EUDR โดยขณะนี้บริษัทเกษตรกรและผู้ค้ายางที่อยู่ในเครือข่ายผลิตยางมีพิกัดแล้ว 100,000 ราย ในสิ้นปี 2567 ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ราย ในปี 2568 รวมเป็นพื้นที่ 3 ล้านไร่
“ยาง GPS คือ ยางธรรมชาติ เช่น ยางก้อนถ้วย, น้ำยางสด, ยางแผ่น เป็นต้น มาตรฐานยางมีพิกัดกับยางธรรมชาติไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ยางมีพิกัดจะสามารถระบุหรือตรวจสอบย้อนกลับได้”
ซึ่งการผลิตยาง GPS นั้น บริษัทได้วางระบบ Sri Trang Ecosystem เตรียมพร้อมทั้ง แอปพลิเคชั่น Sri Trang Friends, Sri Trang Friends Station, บริการ Super Driver และระบบ Smart Factory ที่ช่วยทรานส์ฟอร์มกระบวนการรับซื้อยางสู่ดิจิทัล เชื่อมโยงผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศทั้งระบบ และวางขั้นตอนการทำงานตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดเก็บวัตถุดิบมาถึงขั้นสุดท้ายการสื่อสารเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์นี้
เป้าหมายการขายยาง GPS
เป้าหมายในช่วง 1-2 ปี (ปี 2567-2568) จะสามารถผลิตและส่งออกยางมีพิกัดได้ 50% ของยอดขายทั้งหมด โดยหลักจะเป็นส่งออกยังตลาดสหภาพยุโรปก่อนซึ่งคิดเป็น 30% ของตลาดทั้งหมด
“หากไทยสามารถทำได้จะเป็นโอกาสในการส่งออกและเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยาง ไทยส่งออกยางเป็นร้อยปีจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว และที่ผ่านมาต้องชื่นชม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ตื่นตัวให้ความรู้เกษตรกร ทำให้ไทยได้เปรียบเพราะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สามารถผลิตได้ การผลิตยางมีพิกัดนี้สอดรับกับทิศทางของศรีตรังฯ ที่มุ่งสู่การเป็นกรีน โดยส่งเสริม Green Procuement Green Process และ Green Product มาตลอด”
ด้านราคายาง GPS
ตามทฤษฎีการทำยางมีพิกัดจะมีต้นทุนสูง ก็ต้องลงทุนสูง แต่ราคาจะสูงขึ้นเพียงใดนั้นทางศรีตรังอยู่ระหว่างประเมินจากการทดลอง และต้องมีเจรจากับคู่ค้า ซึ่งผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าที่ได้มาตรฐาน EUDRยอมรับเรื่องการตั้งราคาสูงอยู่แล้ว
แนวโน้มตลาดยาง
ปีนี้ตลาดยางแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน จากดีมานด์ในยุโรปและสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากลูกค้าระบายสินค้าคงคลังสู่ปกติแล้ว และจีนเริ่มฟื้นตัวก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดี เพราะจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก
ขณะที่ความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญกระทบต่อผลผลิตยางลดลง ซึ่งจะต้องรอประเมินหลังจากเดือน มิ.ย. 2567 ว่าผลผลิตจะเป็นอย่างไร
ส่วนสถานการณ์ราคายางธรรมชาติเริ่มเพิ่มขึ้น ราคายาง TSR 20 ตลาด SICOM อยู่ที่ 152.7-155.1 เซนต์/กก. จากเดือนธันวาคม 145.4 เซนต์/กก. หรือราว 5-7%
เป้าหมายยอดขายปีนี้โต 15% เป้าหมายปริมาณการขายยางทุกประเภทในปี 2567 รวม 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนที่มีปริมาณการขายรวม 1.3 ล้านตัน โดยได้ขยายศูนย์รับซื้อวัตถุดิบที่ประเทศไอวอรีโคสต์ เพื่อรองรับโรงงานยางแท่ง ซึ่งเป็นอีกประเทศที่สามารถผลิตยางตาม EUDR ได้ เช่นเดียวกับไทย
ลุยลงทุน 2 พันล้าน
ส่วนภาพรวมการลงทุนในปีนี้วางงบประมาณลงทุน (CAPEX) 1,500-2,000 ล้านบาท เท่ากับปีก่อน โดยอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตโรงงาน 4 แห่งใน จ.พิษณุโลก มุกดาหาร นราธิวาส และเมียนมา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
|