วันที่ 3 มีนาคม 2567 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้า โครงการยาง Thai Tyre ว่า ในเดือนพฤษภาคม 2567 จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล้อยาง กยท. ครั้งแรก ที่งานเอ็กซ์โป ซึ่งจัดขึ้นที่ไบเทค บางนา
สำหรับการผลิตยางเฟสแรก จะใช้วิธีการจ้างผลิต OEM จากโรงงานในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับโรงงานยางของจีนส่วนหนึ่ง และโรงงานของไทย อย่างดีสโตน เพื่อจ้างผลิตให้เป็นยางที่มาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยวางเป้าหมายจะเป็นสินค้าระดับที่สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับสินค้าที่ผลิตจากจีนได้
“ดีสโตน เราก็คุยกันแล้ว ผู้บริหารดีสโตนก็มาเป็นที่ปรึกษาของผม เพราะยางดีสโตนเป็นขวัญใจคนไทย และยังมีโรงงานของจีนอีก 2 โรงที่เรากำลังประสานกันอยู่ เพราะฉะนั้นตอนแรกเรายืนยันว่าจะจ้างทำโออีเอ็ม โดยจ้างผลิตในแบรนด์ของเราตามมาตรฐาน ก็ระดับโลก เพราะทุกงานก็ส่งออกยางไปในโลกเหมือนกัน
แต่เรามีวัตถุดิบจากพี่น้องเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ผลิตขึ้นมาที่เราขายกับโรงงานทั่วไปอยู่แล้ว ก็จะนำมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยางล้อ โดยจะผลิตยางรถไถ รถเกษตร และรถพาสเซนเจอร์ ก็คือรถกระบะ รถเก๋ง เบื้องต้นจะมี 5-6 ไซซ์ ที่ใช้กันเยอะ ๆ ก่อน
การดำเนินการในเฟสแรก จะทำ OEM เพื่อไม่ต้องแบกรับภาระ ต้นทุนสูงเกินไป และอีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องเรียนรู้ไปก่อนเพราะเราเป็นผู้ใหม่ในธุรกิจนี้ การที่ไปลงทุนเยอะ ๆ ก็ควรจะเว้นไว้ก่อน เราใช้โนว์ฮาวของคนอื่น ซึ่งเขาพร้อม ส่วนเรื่องราคา แน่นอนว่าเราวางสินค้าเราไว้ในระดับที่เป็นแมส คือตลาดทั่วไป น่าจะเกรดประมาณดีสโตนมาตรฐานอยู่ประมาณนั้น แต่ราคาถูกกว่าแน่นอน
เพราะว่าแบรนด์นั้นมีเรื่องโนว์ฮาวเรื่องของแบรนด์ที่สามารถอัพราคาได้ ถ้ายางแบรนด์ยี่ห้อแพง ที่เรียกว่าไฮเอนด์จะใช้สัดส่วนของยางธรรมชาติค่อนข้างเยอะ ยางล้อจีนจะใช้สัดส่วนของยางสังเคราะห์เยอะกว่ายางธรรมชาติ แต่เราจะผลิตในสูตรที่เรียกว่าใช้ยางธรรมชาติเยอะกว่าเพราะเราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเสียค่าแปลงครับเรื่องแบรนด์ที่เราจะไปทำราคา เราไม่ได้ทำต้นทุนมาจากวัตถุดิบ ที่เราผลิตได้เอง กับพี่น้องเกษตรกรอยู่แล้ว หลังจากนั้นหากธุรกิจนี้เดินไปต่อไปได้ เฟสต่อไปจะพิจารณาเรื่องการตั้งโรงงานล้อในลำดับต่อไป”
ดูดผลผลิตยางออกจากตลาด 4 แสนตัน
ก่อนหน้านี้ นายเพิกเล่าว่า โครงการยาง Thai Tyre เปรียบเสมือนแก้มลิงที่จะดึงยางออกไป เพราะการผลิตยางล้อเอง ทำให้เราสามารถดึงผลผลิตยางออกจากตลาด 400,000 ตันต่อปี คิดเป็น 10% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด 4 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับราคาแบบที่ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดอย่างที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ไม่ต้องพูดถึง เพราะที่ผ่านมาทำแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ราคาขยับสูงขึ้น ทางเราจึงไม่ทำประกันรายได้
เล็งหา “โชว์รูม” ช่องทางจำหน่าย
สำหรับช่องทางจำหน่าย ตอนนี้กำลังเตรียม โดยดูโชว์รูมที่จะแสดงสินค้าของเกษตรกรที่ผลิตได้ เพราะนอกจากล้อยางแล้ว ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ได้ลงพื้นที่และพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก มีทั้งหมวกนิรภัย รองเท้าบูทที่ใช้กับอุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร
เบื้องต้นได้ประสานกับอธิบดีหลายกรม เช่น กรมปศุสัตว์ เรื่องการขอให้ห้องเย็นที่ต้องใช้รองเท้าบูต และกำลังนำเสนอให้มีการตั้งงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้างซึ่งท่านรัฐมนตรีบอกแล้วว่าให้แต่ละหน่วยงานสนับสนุนพวกเราเพื่อจะยกระดับและพัฒนาสินค้าพวกนี้ และมีเซลส์ช่วยจำหน่าย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |