ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่รับตำแหน่ง โดยราคายางเฉลี่ยเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 48.26 บาท แต่มาเดือนนี้กุมภาพันธ์ 2567 ราคาน้ำยางขยับขึ้นไปเป็น 68.03 บาท ส่วนต่าง 19.77 บาท หรือประมาณ 20 บาท ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับขึ้นไปที่ 77 บาท ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการระบบนิเวศยางพารา จึงมีผลทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 30,000-50,000 ล้านบาท
สเต็ปต่อไปในเดือนมีนาคม 2567 เตรียมจะ “คิกออฟ” การดำเนินโครงการยางทุกกิโลกรัมที่ผลิตได้ในประเทศสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ว่าไม่บุกรุกป่า และเป็นไปตามกฎระเบียบ EU Deforestation-Free Regulation (EUDR) ที่สหภาพยุโรปบังคับใช้ ว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตด้วยวัตถุดิบมาจากพื้นที่ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า
ซึ่งเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ ระบบ EUDR คล้ายกับการจัดระเบียบประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ IUU EUDR ของสหภาพยุโรป ในลอตแรกไทยจะเริ่มตรวจสอบย้อนกลับยางได้ในปริมาณ 1 ล้านตัน จากนั้นจะครบ 100% หรือปริมาณ 4.7 ล้านตันในปลายปี 2567 ตลาดยาง 586 ตลาดตรวจสอบได้ 100% จะช่วยให้ไทยได้ “แต้มต่อ” ในการส่งออก
แม้ว่าหลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็นต้องทำ เพราะตลาดส่งออกยุโรปสัดส่วนแค่ 10% แต่เงื่อนไขเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำตาม เพราะตลาดอีก 90% ที่ส่งออกเป็นตลาดที่นำเข้ายางจากเราแล้วผลิตสินค้าส่งออกไปขายยุโรป
ทั้งนี้ หลักการของ EUDR จะต่างจากหลักการ FSC ซึ่งจะดูเอกสารสิทธิที่ดินหรือไม่ แต่ EUDR ไม่ได้พูดถึงเอกสาร แต่ต้องตรวจสอบรับรองผู้ปลูกยางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ว่าไม่ได้ซื้อจากที่ดินที่รุกป่าก่อนเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งประเทศไทยสามารถรับรองได้แล้ว โดย กยท.ได้พัฒนาระบบด้วยงบประมาณ 50 ล้านบาท และได้ทยอยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
โอกาสตลาด EUDR
นายเพิกกล่าวว่า หากทำระบบ EUDR สำเร็จ ประเทศไทยจะสามารถขยายการส่งออกได้มากขึ้นและได้ราคาสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ความต้องการยางที่ผ่านมา มาตรฐาน EUDR ทั่วโลกมีปริมาณ 4 ล้านตันและในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านตัน แต่มีประเทศผู้ส่งออกยางที่สามารถผ่านตามระบบ EUDR นี้ได้เพียงไม่กี่ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาทำได้ 1.5-1.8 ล้านตัน ยังเหลือตลาดอีกถึง 2.2-2.5 ล้านตัน “จะเป็นโอกาสของไทย” เพราะประเทศอื่นในอาเซียนทั้ง เมียนนา กัมพูชา ลาว เวียดนามยังไม่สามารถทำได้
การผลิตยางตามระบบดังกล่าวจะต้องมีการรายงานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ มีกระบวนการขั้นตอนเพิ่มขึ้น แต่คุ้มค่าในด้านราคา เพราะยาง EUDR จะขายได้ในราคาที่สูงกว่ายางทั่วไป 4 บาทต่อ กก. อีกด้าน EUDR หากเราทำสำเร็จไม่เพียงขายยางได้ราคาดีขึ้นเท่านั้น แต่ทางอ้อมเรื่องนี้จะทำให้ปัญหายางเถื่อนหมดไปโดยอัตโนมัติ เพราะ หากตรวจสอบที่มาที่ไปของยางไม่ได้ก็จะไม่มีใครซื้อยางเถื่อน
“ผมมั่นใจว่าเราทำได้ไปถึงแน่ ผมใช้การตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งระบบนี้ กยท.ได้ใช้เงินงบฯลงทุนไป 50 ล้านบาท หลายคนอาจจะสงสัยว่า ระบบ EUDR ทำไปทำไม ไม่จำเป็น เพราะเราขายยางให้ยุโรปเพียง 10% แต่จริง ๆ แล้วอีก 90% เราขายให้คู่ค้าที่จะไปผลิตสินค้าขายให้ยุโรปอีกทีหนึ่ง ซึ่งลูกค้าก็ต้องการมาตรฐาน EUDR เช่นกัน ดังนั้น 100 บาท เป็นเป้าหมายในปีนี้ 586 ตลาดจะเป็นตลาดที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ 100%” นายเพิกกล่าว
ปลดล็อกปัญหาที่ ส.ป.ก.
ล่าสุดได้มีการตั้งคณะทำงาน 1 คณะ โดยเชิญตัวแทนจากสมาคมยางพาราไทย ผู้ประกอบการที่ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษา เพื่อเตรียมคำชี้แจงต่อผู้นำเข้าในตลาดสหภาพยุโรป ว่าไทยปฏิบัติตามหลักการดำเนินการของ EUDR ที่กำหนดว่าจะต้องแจ้งที่มาตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูกยางได้ โดยจะต้องไม่มีการรุกป่านับจากเดือนธันวาคม 2563 คือต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้
“ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ออกมาระบุว่า มีที่ดิน ส.ป.ก.รุกป่านั้น เราขอให้แยกเป็นกรณี ๆ อย่าเหมารวม เพราะคนเลวมีทุกที่ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปลาตัวเดียวจะทำให้เหม็นทั้งข้องไม่ได้ ใครผิดก็ไปจับกุมคนนั้นเลย ผมสนับสนุน เพราะสิ่งที่ผมทำไปจับยางเถื่อนก็ไม่ต่างกันจากที่เขาทำ ผมพร้อมจะช่วยเจ้าหน้าที่ในการจับกุมหาบุคคลที่กระทำผิด
แต่อย่าเหมาเข่งสื่อสารไปถึงต่างชาติว่าเรามีแต่บุกรุกป่าไม่ได้ เพราะจะทำให้ที่ดิน ส.ป.ก.เป็นเอกสารรับรองที่ดินที่ไม่น่าเชื่อถือ การสื่อสารแบบติเรือทั้งโกลนอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตวิทยา ประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางที่กำลังจะเข้าสู่ระบบ EUDR แน่นอน เพราะขณะนี้ผู้ซื้อจากสหภาพยุโรปเริ่มสอบถามมาผ่านทางผู้ส่งออกยางของไทยว่า ประเด็นเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.รุกป่านี้เป็นอย่างไร” นายเพิกกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันสวนยางของไทย 20 ล้านไร่ เป็นที่ดิน ส.ป.ก. 9.2 ล้านไร่ ซึ่งจะตรวจสอบย้อนกลับที่ดินนั้นต้องน่าเชื่อถือ โดยจะต้องไม่รุกป่าก่อนปี 2563 หากคิดปริมาณผลผลิตต่อไร่ ไร่ละ 250 กก. ให้ผลผลิต เท่ากับ 47% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด หรือ 2 ล้านตัน หากไทยสามารถทำให้ผลผลิตจากที่ดินตรงนี้มีราคาขยับขึ้น กก.ละ 1 บาท จะได้เงินมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 4,700 ล้านบาท แต่การที่คุณมาติเรือทั้งโกลนความเสียหายเกิดขึ้นคุณรับผิดชอบไหวหรือไม่
“วันนี้เป้าหมายชาวสวนยาง 4.7 ล้านตัน ถ้าขายแบบเดิมราคา 50 บาท ไทยจะมีรายได้ 200,000 ล้านบาท แต่เป้าหมายของเราคือ ราคา 3 หลัก ผมจะทำให้ได้ 100 บาทขึ้นไป ผมรับงานมาเดือน ต.ค. ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ราคายางขึ้นมา 77 บาทแล้ว มันเป็นเทรนด์ราคาขาขึ้น หากเราได้ตามเป้าหมายก็จะได้เงินเพิ่ม 200,000 ล้านบาท ผมรับมาดูแลชาวสวนยาง 1 ล้านครัวเรือน เกี่ยวข้องกับคน 10 ล้านคน
ถ้าสำเร็จเราจะไม่ต้องใช้เงินของรัฐ ข่าวที่ออกมาทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่แจ้งว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งสัญญาณจากยุโรปว่าจะซื้อยางจากที่ดิน ส.ป.ก. ได้หรือไม่ ดังนั้น เป้าหมายเราจะใช้เรื่องนี้เป็นใบเบิกทางไปเปิดตลาดยางในยุโรป ว่ายางพาราไทยไม่ได้บุกรุกป่า ซึ่งดังนั้น เห็นว่าหากคนไหนรุกป่าก็ควรจะไปดำเนินการกับคนนั้น ใครผิดก็ว่ากันไปตามความผิด” นายเพิกกล่าว
ด้านนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทนอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวถึงการเตรียมพร้อมสู่มาตรฐาน EUDR ว่า ทางบริษัทได้ดำเนินการหลายด้าน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมกับบริษัทมีการวางระบบไปสู่การตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งกระบวนการดำเนินการนี้อาจจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ทางผู้ซื้อแจ้งความประสงค์มาว่า ต้องการสินค้าที่ผ่าน EUDR และยอมที่จ่ายเพิ่มจากปกติประมาณ 10-15% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงค่อนข้างมาก และคุ้มค่าต่อการปรับเปลี่ยน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ |