แบงก์ชาติแจงไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายแม้เงินเฟ้อติดลบ ต้องดูแลให้เศรษฐกิจขยายยั่งยืนและมีเสถียรภาพการเงินด้วย เหตุเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาโครงสร้างจึงโตไม่ทั่วถึง ยันดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก ย้ำดูแล MRR ไม่ให้เป็นภาระกับกลุ่มรายย่อย
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว ไม่สามารถปรับดอกเบี้ยนโยบายตามกระแสข่าวได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลักคือ 1) เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2) ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3) เสถียรภาพเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อประเด็นที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายการเงินสูงไปหรือไม่นั้น นายปิติยืนยันว่าทางกนง. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่อาจใช้นโยบายการเงินมาแก้ไขโดยง่าย การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและเสี่ยง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องคุมเงินเฟ้อ แต่จะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก
"นโยบายดอกเบี้ยต้องดูหลายปัจจัยรอบด้าน เพื่อดูให้ออกว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส ต้องมองไประยะปานกลาง เพราะใช้เวลาส่งผ่านช่วงหนึ่ง เหมือนส่งบอลให้เพื่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน"
สำหรับแนวทางกำหนดกรอบดอกเบี้ยนโยบายโดยคำนึงถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนนั้น นายปิติขยายความว่า แม้ในปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วในหลายมิติ แต่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควรและไม่สมดุล เพราะขาดแรงส่งจากภาคส่งออกและการผลิต แต่เป็นการขยายตัวที่เน้นหนักที่ด้านท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีบางจุดที่ยังไม่เป็นไปตามคาด เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและปริมาณนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับที่ภาคการผลิตและภาคการส่งออกไม่ฟื้นตัวเร็ซอย่างที่เคยประเมินไว้ เพราะอุปสงค์โลกยังเน้นฟื้นตัวที่ภาคบริการเป็นหลัก ยังไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลก
ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว จนส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคู่แข่งมาก และดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า สะท้อนว่าไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไทยเองก็มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยลง เพราะขาดการพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม
แต่มองว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างครบครันและสมดุลมากขึ้น จะมีทิศทางการส่งออกดีขึ้น จากปัจจัยที่วัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกกลับมา แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างยังทำให้ประโยชน์ที่ควรได้รับไม่มีมากเท่าที่ควร กนง.จึงให้ความสำคัญและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในการประเมินภาพเศรษฐกิจในอนาคต
"เหตุผลที่เศรษฐกิจขยายตัวชะลอ เพราะปัจจัยทางโครงสร้าง และปัจจัยนอกประเทศที่เหนือการควบคุม เลยยังไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้"
สำหรับในมิติของเฟ้อนั้น มองว่าการที่อัตราเงินฟ้อปรับลดลงเป็นข่าวดี เพราะช่วยจำกัดค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้สูงขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อของไทยได้คลี่คลายไปพอสมควรแล้ว นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากมาตรการรัฐ แต่จริง ๆ แล้วราคาสินค้าไม่ได้ลดลงเป็นวงกว้าง ทั้งนี้แม้ว่าเงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็ว จึงไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ระดับ 2% และการลดลงของเฟ้อสะท้อนเรื่องอุปทานหรือการผลิตที่คลี่คลายลง โดยมองว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปอีกถึงเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจะค่อยเพิ่มขึ้นจึงคาดว่าปลายปีก็จะอยู่ 1-2% ตามระดับเป้าหมาย
"ด้วยเงินเฟ้อที่ติดลบในช่วงนี้ก็ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นเงินฝืดหรืออุปสงค์ที่ลดลงจริง จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงทันที เพราะต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่แค่เรื่องอัตราเงินเฟ้อ"
ส่วนมิติของการดำเนินโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงินนั้น นายปิติกล่าวว่าระดับหนี้ที่สูงเป็นจุดเปราะบางสาคัญของเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขหนี้ต่อ GDP ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง นั่นคือหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% และหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ 87.4% เช่นเดียวกับที่สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนไทยที่มีสินทรัพย์รองรับมีน้อยหรือยู่ที่เพียง 34% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เกินกว่า 50% ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวทางธุรกิจที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก แล้วเป็นไปในแนวทางที่กนง.ต้องการให้อยู่ในภาวะสมดุล เป็นกลาง และไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ให้มีเม็ดเงินเพียงพอไปหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ แม้ค่าเงินบาทยังผันผวนแต่ยังอยู่ในระดับที่รับได้
ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ยืนยันว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะปัจจุบันยังส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ย MRR เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เปราะบางอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้เปรียบเทียบการส่งผ่านจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ว่า ของไทยอยู่ที่ 69% สำหรับดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 64% สำหรับ MOR และ ที่ 49% สำหรับ MRR ซึ่งโดยเฉลี่ยยังต่ำกว่าหลายประเทศ แม้อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย
ส่วนประเด็นที่ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างสูงเป็นจุดที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ทางแบงก์ชาติมองว่า เรื่องส่งต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกตลาด ที่การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายไปเงินฝากน้อยเกินไป โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ค่อยตึงตัว ทั้งนี้หน้าที่ของแบงก์ชาติต้องดูแลเรื่องความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ และดูแลเรื่องให้บริการอย่างเป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ยังดูเรื่องต้นทุนการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย |