สำหรับเรื่องการขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ก่อนหน้านั้น ในการประชุมรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2599 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เคยลุกขึ้นชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายเรื่องแรงงานว่า ประเทศไทยเป็นที่สนใจของแรงงาน อัตราว่างงานร้อยละ 1 ประชาชนไทยมีงานทำ และยังมีความต้องการคนงาน จนต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยที่ไทยต้องดูแล สิทธิมนุษยชน ความเป็นอยู่ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัย มั่นคงที่พึงจะได้
ปัญหาที่สมาชิกได้กล่าวถึง เช่น One Stop Service รัฐบาลตั้งมั่นว่าจะมีการจัดการให้ดีขึ้น ได้รับฟังข้อมูลเบื้องต้นทั้งปัญหาการประมงที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะบริหารจัดการ One Stop Service ให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงผู้จ้างงาน ผู้ใช้แรงงาน และ แรงงานข้ามชาติ
นอกจากนี้ รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การท่องเที่ยว เพื่อดึงเงินเข้าภาคบริการ ทำให้ “ค่าแรง” จะถูกปรับขึ้นตามความต้องการของแรงงาน
นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจภาคบริการ เราจะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และโลจิสติกส์ หลังแถลงนโยบายจะเดินหน้าโดยเร่งด่วน รัฐบาลมีเป้าหมายจะปรับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ให้เหมาะสมพึงพอใจในการใช้จ่าย
“รัฐบาลจะจัดให้มีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ขณะที่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ชี้แจงตอนหนึ่งในช่วงระหว่างการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า รัฐบาลมั่นใจว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันได้โดยเร็วที่สุดเป็นสเต็ปแรก
“การดำเนินงานหลากหลายนโยบายของรัฐบาลนั้น จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้ เป็น 600 บาทต่อวัน เงินเดือนผู้เรียนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ได้ภายในปี 2570”
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะดูแลคนทำงานให้มีรายได้ที่เป็นธรรม มีปริมาณและรายได้ที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที จะเร่งรัดการทำให้คนทำงานมีสิทธิพื้นฐานครบถ้วนโดยเร็ว และทำแผนดูแลในบางกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมด้วย และสุดท้าย รัฐบาลและราชการ จะต้องทำงานเพื่อบริการประชาชนให้ดีขึ้น
ขณะที่ ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องขับเคลื่อนการขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” นั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เคยออกมาประกาศไว้ว่า ภายในเดือน พ.ย. 2566 จะหาทางสรุปแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ ก่อนจะประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่อไป
นายพิพัฒน์ ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้หารือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ซึ่งได้สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยจากนี้ไปกระทรวงแรงงานจะไปหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปเรื่องนี้ ก่อนนำมารายงานให้นายกฯ รับทราบอีกครั้ง
สำหรับการปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของประเทศไทย เคยมีการปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2565 โดยปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาท
ทั้งนี้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เปิดตัว 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้อง 600 บาท ภายในปี 2570
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ