|
 
 
 
วันที่ / Date 23-25/11/2567
66.70 บาท/กก. (THB/Kg.)
 
วันที่ / Date 22/11/2567
1,560.00 USD/MT (@ B/USD)
  •   4 กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมไปเป็นธุรกิจสีเขียว new

เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีคงจะได้รับทราบหรือได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของนโยบายการสนับสนุนธุรกิจใหญ่น้อยทั้งหลาย ให้หันมาให้ความสนใจในเรื่องของการเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความยั่งยืนให้กับโลกมนุษย์ของเราที่กำลังตกอยู่ในวิกฤตความแปรปรวนของธรรมชาติอันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์มาแล้วบ้าง ไม่มากก็น้อย

แม้ในประเทศไทยเอง ภาครัฐก็มีนโยบายพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งต้องอาศัยภาคธุรกิจในการผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ (สตาร์อัพ) และธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว ให้พัฒนาโมเดลธุรกิจของตนเองหันเข้ามาสู่ทิศทางของการเป็นธุรกิจสีเขียว (Green business) ให้มากขึ้น

โดยคำจำกัดความแล้ว ธุรกิจสีเขียว จะหมายถึงธุรกิจที่มุ่งเป้าหมายในการสร้างกำไรให้แก่ธุรกิจโดยคำนึงถึงการดูแลรักษาหรือเยียวยาความสมดุลของธรรมชาติในโลกไปพร้อมๆ กัน โดยยึดแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของโลกตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติประกาศไว้

 

ในภาพรวม ธุรกิจสีเขียว จะมีการดำเนินการทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกสู่ตลาดและผู้บริโภค หรือ ธุรกิจที่มีกระบวนการในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่งสินค้า และกระบวนการทำงานในสำนักงาน ที่จะช่วยการปล่อยลดมลพิษ ของเสีย หรือขยะอันตราย ออกสู่ธรรมชาติที่อาจนำไปสู่การเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศของโลก

สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้วและต้องการเตรียมปรับทิศทางธุรกิจให้สอดคล้องกับการเป็นธุรกิจสีเขียวให้มากขึ้น อาจเริ่มต้นด้วยการศึกษาแนวทางการสร้างกลยุทธ์ให้ 4 ด้าน ซึ่งได้แก่

กลยุทธ์ในการจัดหาวัตถุดิบและทรัพยากรนำเข้าของธุรกิจ กลยุทธ์การดำเนินกระบวนการต่างๆ ของธุรกิจ กลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจ และ กลยุทธ์การดำเนินการทางการตลาดของธุรกิจ

กลยุทธ์ในการจัดหาวัตถุดิบและทรัพยากรนำเข้าของธุรกิจ ในเบื้องต้นจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาที่เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืน การนำพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในธุรกิจ การใช้วัตถุดิบธรรมชาติแทนวัสดุสังเคราะห์ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบและทรัพยากรนำเข้าทุกขั้นตอน

กลยุทธ์การดำเนินกระบวนต่างๆ ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต กระบวนการให้บริการ กระบวนการสนับสนุน จะเน้นเป้าหมายไปที่การลดผลกระทบจากกระบวนการทั้งหมดเหล่านี้อันจะมีต่อบรรยากาศ ภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ การกำจัดขยะของเสีย การนำกลับมาใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางอื่นที่สร้างประโยชน์หรือคุณค่าเพิ่ม ทั้งในมิติของการลดปริมาณ หรือการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเลยในทุกกระบวนการทางธุรกิจ

กลยุทธ์การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจ เน้นเป้าหมายไปที่การใช้ประโยชน์ของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่ส่งเสริมความยั่งยืนของโลก เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือการออกแบบโดยไม่ต้องมีบรรจุภัณฑ์เลย การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ซ้ำหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานน้อยลง หรือสามารถใช้พลังงานทดแทนได้

กลยุทธ์การดำเนินการทางการตลาดของธุรกิจ ตั้งเป้าหมายไปที่การประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าและผู้บริโภคทราบและตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลก การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์โดยการนำผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานในด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือ

การเริ่มต้นศึกษาและจัดทำแผนกลยุทธ์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจโดยกำหนดทิศทางให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมเข้าสู่ทิศทางของการเป็นธุรกิจสีเขียว นอกจากจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือต่อธุรกิจแล้ว ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจเอง ยังจะได้รับความภาคภูมิใจในตัวเอง ที่มีส่วนในการทำให้โลกเกิดความยั่งยืนและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

ควบคู่ไปกับการสร้างกำไรและการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อีกด้วย!!??!!

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

Update :  26 ตุลาคม 2566     เวลา : 11:16:57 น.
 

สมาคมน้ำยางข้นไทย
60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
Tel. 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org

ระบบจัดการข้อมูล | ระบบเช็คอีเมล์
Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com