ไทยร่วมประชุม IMT-GT กับผู้นำมาเลเซีย – อินโดนิเซีย สรุปความสำเร็จกรอบความร่วมมือในรอบ 30 ปี ดันจีดีพีอนุภูมิภาคเโตแตะ 13.3 ล้านล้าน เตรียมจับมือเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยางพารา – ปาล์ม ดันโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง 3 ประเทศ พร้อมร่วมผลักดันการท่องเที่ยวหลังโควิด-19
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT Summit) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(The 15th IMT-GT Summit) ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีการสรุปความสำเร็จในรอบ 30 ปี ของแผน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งมีผลความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมได้แก่ การมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภายในอนุภูมิภาคซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.2 แสนล้านบาท (1.27 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2527 เพิ่มเป็น 13.38 ล้านล้านบาท (4.057 แสนล้านดอลลาร์) (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 33) ในปี 2564
ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นจาก 3.23 ล้านล้านบาท (9.79 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2527 เพิ่มเป็น 20.3 ล้านล้านบาท (6.18 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานความเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งมีมูลค่ารวม กว่า 1.81 ล้านล้านบาท (5.7 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่เคยมีมูลค่ารวมเพียง 1.71 แสนล้านบาท (5.2 พันล้านดอลลาร์)
“การประชุมในครั้งนี้ ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในพื้นที่”นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ประเทศไทยได้เน้นย้ำประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ 4 ประเด็นในการประชุม IMT-GT ได้แก่
1.เร่งรัดพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จและบรรจุโครงการใหม่ในโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ (PCPs) เพื่อความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อและสอดรับกับแผนงาน MR Map ของไทยโดยจะต้องเร่งรัด โครงการที่เกี่ยวข้องได้แก่ โครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) และ โครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสตูลและเปอร์ลิส
2.ทั้ง 3 ประเทศได้มีการหารือกันเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ทั้ง 3 ประเทศมีการผลิตร่วมกันในปริมาณมาก ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้มีการหารือแนวทางที่จะแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าก่อนที่จะมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดปลายทาง โดยจะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันต่อไป รวมทั้งเร่งกระชับความร่วมมือในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศสมาชิก IMT-GT รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการโครงการปาล์มน้ำมันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และดึงดูดการลงทุนให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าด้านการเกษตรให้แก่อนุภูมิภาค IMT-GT
3.เร่งรัดการให้ประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ลงนามในกรอบความตกลงด้านพิธีการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคพืชและสัตว์ (Framework of Cooperation between the Government of Indonesia, Malaysia, and Thailand in Customs Immigration and Quarantines Procedures หรือ FoC in CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าอย่างไร้รอยต่อ และเพิ่มพูนศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนวในอนุภูมิภาค IMT-GT
4.พัฒนาโครงการภายใต้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสอดรับกับ BCG Model ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ อาทิ พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของไทย รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาโครงการภายใต้แผนงานเมืองสีเขียว (Green Cities) และเร่งพัฒนาโครงการตามแผนการลงทุนกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (SUDF)
นอกจากนั้น ทั้ง 3 ประเทศ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาหลัก ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน และธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังได้หารือประเด็นความร่วมมือสำคัญ เช่น การพัฒนาสีเขียวและเศรษฐกิจสีครามสู่ความยั่งยืน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับการพัฒนาอนุภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมศักยภาพของ IMT-GT เช่น ฮาลาล ยางพารา และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GT ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของแคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยวอนุภูมิภาค IMT-GT พ.ศ. 2566 – 2568 (Visit IMT-GT Year 2023 – 2025) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี แห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT บนแนวคิดหลัก “Follow Your Dream” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักการท่องเที่ยวอาเซียน ”A Destination For Every Dream” โดยทุกภาคส่วนในอนุภูมิภาคจะได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของ IMT-GT ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1069186
|