นายชูวิทย์ กล่าวด้วยว่า อยากจะฝากถึงชาวสวนยางว่าให้ดูแลต้นยางดี ๆ เพราะหากอยู่ในภาวะแล้งจริง ฝนยังไม่ตก ก็ไม่ควรเริ่มเปิดกรีด หรือหากควรกรีดแล้ว ต้องเว้นวันให้ต้นยางมีวันพักมากขึ้น ก็จะช่วยถนอมต้นยาง ในช่วงภาวะที่น้ำฝนยังไม่ลงเต็มที่ ไม่เช่นนั้นต้นยางอาจจะยืนต้นตายได้
สอดคล้องกับ นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยผ่านงาน “Talk About Rubber” ครั้งที่ 7 ว่า แนวโน้มราคายางมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางของโลกที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายรถยนต์ และการผลิตล้อยาง ซึ่งสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ว่าในปี 2566 ยอดจัดส่งรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตยางทั่วโลกยังคงเติบโตน้อย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิตคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้ง แม้เริ่มมีฝนตกในบางพื้นที่ แต่อากาศร้อนยังทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นผลดีต่อราคายางในอนาคต
สถานการณ์การส่งออกยางพาราโลก ปี 2560-2565 ไทยส่งออกยางมากที่สุดในโลก โดยตัวเลขคาดการณ์การส่งออกยางไทย ปี 2566 อยู่ที่ 4.275 ล้านตัน พบว่าในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 ไทยส่งออกยางเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 และ 2565 อินโดนีเซียมีปริมาณการส่งออกยางลดลงตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากรัฐบาลไม่สนับสนุนราคายาง และเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ราคาสูงกว่า เช่น ปาล์มน้ำมัน
ส่วน “เวียดนาม” การส่งออกยางสูงขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่าปี 2566 ปริมาณการส่งออกยางของอินโดนีเซีย และเวียดนามจะใกล้เคียงกัน แต่ยังน้อยกว่าประเทศไทยกว่าเท่าตัว ประเทศผู้นำเข้าหลักยางพาราจากไทย ปี 2561-2565 ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้ายางจากไทยมากที่สุด โดยในเดือน ม.ค.- ก.พ. 2566 มีสัดส่วนมากถึง 55% รองลงมา คือ มาเลเซีย 13% ตามด้วยสหรัฐฯ 4% และญี่ปุ่นในปริมาณใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ยังต้องติดตามการนำเข้ายางของสหรัฐต่อไป เนื่องจากยังอยู่เพียงช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เท่านั้น ส่วน“เกาหลีใต้” นำเข้ายางจากไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบปี 2562 เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตยางล้อส่งออกไปสหรัฐฯ
สถานการณ์ของประเทศผู้ปลูกยางสำคัญ
“อินโดนีเซีย” เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปริมาณส่งออกยางลดลง 7% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีผ่านมา เนื่องจากผลผลิตยางที่ลดลงเป็นผลจากราคายางที่ตกต่ำ
“มาเลเซีย” เดือนมกราคม 2566 ผลผลิตยางลดลง 40% เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคายางตกต่ำ และเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มที่ราคาสูงกว่า
“เวียดนาม” ตั้งแต่ปี 2557 – 2565 พื้นที่กรีดของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกยางของเวียดนามไปยังตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปริมาณส่งออกยางลดลง 3% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีผ่านมา
“จีน” พื้นที่มณฑลยูนนานมีผลผลิตยางน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคราแป้ง อุณหภูมิสูง และปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง
นางสาวอธิวีณ์ กล่าว ช่วงปิดกรีดของไทย (ก.พ. – เม.ย. 66) คาดว่าผลผลิตรายเดือนจะอยู่ในช่วง 0.25 – 0.37 ล้านตัน เมื่อเปิดกรีดผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงธันวาคมจะอยู่ที่ 0.49 ล้านตัน (เป็นไปตามปริมาณผลผลิตปกติของประเทศไทยทุกปี)เฉลี่ยผลผลิตประเทศไทยจะออกมากที่สุดในช่วงมกราคม และน้อยที่สุดในช่วงเมษายน
ส่วนปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าทุกปี อากาศแล้ง แม้มีฝนตกในบางพื้นที่แล้ว แต่อากาศร้อนยังทำให้หลายพื้นที่ไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ เกษตรกรชาวสวนยางควรวางแผนหาแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร
สถานการณ์ยางพาราปี 2566
โอกาส
- สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries: ANRPC ) คาดการณ์ความต้องการยางธรรมชาติที่ 14.912 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม 173,000 ตัน สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจตามการคาดการณ์ของ lMF LMC Rubber Bulletin ฉบับเดือนเมษายน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ยางจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น แต่การผลิตทั่วโลกยังเติบโตน้อย ส่งผลดีต่อราคายางในอนาคต
- สมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์ยอดจัดส่งยางรถยนต์ของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 ความท้าทาย
- ปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ไทยมีฝนน้อยกว่าปกติ ส่งผลต่อผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยาง
- อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจนถึงปลายปี เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าจากการลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
- IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะลดลงอยู่ที่ 2.8% เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น นโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่างๆ ปัญหาเสถียรภาพในภาคการเงิน การชะลอตัวของตลาดแรงงาน
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ได้แก่สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ