ผู้เชี่ยวชาญคาด จีนเตรียมประกาศเป้าจีดีพีต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ผลพวงภาคอสังหาฯ ตกต่ำยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ในพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) วันอาทิตย์ (5 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงผู้กำลังพ้นตำแหน่งจะประกาศตัวเลขเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2566 หลังจากโตเพียง 3% ในปี 2565 ต่ำสุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปีผลจากการระบาดของโควิด-19 การล็อกดาวน์ และวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์
เอเอฟพีสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ถึงเป้าการเติบโตของจีนในปีนี้ ส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะวางไว้ที่ 5.3% ต่ำสุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปี
ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยเมื่อรวมกับภาคก่อสร้างคิดเป็นกว่าหนึ่งในสี่ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จีน ยังคงตกต่ำ โดยได้รับผลกระทบอย่างหนักนับตั้งแต่รัฐบาลปักกิ่งเริ่มปราบปรามหนี้สินล้นพ้นตัวและการเก็งกำไรในปี 2563
ยอดขายอสังหาฯ ตกลงในหลายเมืองนับตั้งแต่นั้น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ขณะที่ปีก่อนผู้ซื้อบ้านหลายรายไม่ยอมจ่ายจำนองบ้านที่สร้างไม่เสร็จ
แฮร์รี เมอร์ฟี ครุยซ์ นักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์ระบุ “ยอดขาย โครงการใหม่ และราคาลดลงทั้งหมด บริษัทอสังหาฯ ผิดนัดชำระหนี้เมื่อปลายปี 2564 ทำให้บ้านตกแต่งไม่เสร็จเหลือกว่า 1 ล้านหลัง ครัวเรือนขวัญผวา จนหลายคนไม่สนใจตลาดอสังหาฯ ไปเลย”
นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมีส่วนฉุดรั้งเศรษฐกิจจีนด้วย เมื่อนานาประเทศต้องรับมือกับราคาสินค้าพุ่งสูง ธนาคารกลางจึงรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอดีมานด์
“เราเห็นตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากองอยู่เต็มท่าเรือจีน ความต้องการสินค้าส่งออกหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกแผ่วและการโยกย้ายซัพพลายเชน” จีน หม่า หัวหน้าฝ่ายวิจัยจีน สถาบันการเงินระหว่างประเทศกล่าวกับเอเอฟพี
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์เตือนว่า ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์สร้างภัยคุกคามต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนเช่นกัน โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลปักกิ่งเลือกเอาตัวเองไปพัวพันกับสงครามของรัสเซียในยูเครนมากขึ้น
ทีอูเว เมวิสเซน นักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนประจำราโบแบงก์ กล่าวเสริม “ความเสี่ยงใหญ่อันหนึ่ง (ถ้าไม่ใช่ใหญ่สุด) ก็คือการที่จีนแข็งขันสนับสนุนอาวุธและกระสุนให้รัสเซีย นี่แทบจะแน่นอนว่านำไปสู่การคว่ำบาตรของชาติตะวันตก”
อย่างไรก็ตาม เหล่านักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องกันว่า การเติบโตที่เกิดขึ้นจะมาจากความต้องการบริโภคที่พุ่งขึ้นมาก เมื่อจีนยกเลิกมาตรการคุมโควิดเข้มงวดที่ใช้มานานเกือบสามปี
“เมื่อมีสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัว ความต้องการที่อัดอั้นท่ามกลางการกลับสู่ภาวะปกติ เราคิดว่าการบริโภคภาคบริการจะสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด” จิง หลิว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เกรทเตอร์ไชนา เอชเอสบีซีโกลบอลรีเสิร์ชกล่าวในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งหม่าจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศเห็นพ้องว่า กลุ่มของเขาคาดว่าการบริโภคภาคครัวเรือนจะพุ่งจากหดตัว 0.2% ในปี 2565 มาโต 9% ในปีนี้
“การที่การบริโภคภาคครัวเรือนคิดเป็น 40% ของจีดีพีภาคส่วนนี้อย่างเดียวสามารถผลักดันจีดีพีให้สูงขึ้นได้ 3.5%” หม่าสรุป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |