นายพงศ์นเรศ กล่าวว่า ไม่คาดคิด เพราะปกติเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทุกปีที่ผ่านมาเป็นช่วงปริมาณยางออกมามาก แต่ปีนี้กลับมีน้ำยางน้อยกว่าปกติหายไปเท่าตัวจากตลาด ถือว่าเป็นเหตุการณ์พลิกล็อกมาก และกว่าจะมาใหม่อีกต้องรอช่วงเปิดกรีดหน้าใหม่ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะช่วงไหน เพราะในปีนี้ยางหมดเร็ว ก็อาจจะมาเร็วถ้าฝนมาต่อเนื่อง แต่ถ้าฝนขาดช่วงไปเดือนมีนาคม เมษายน อาจจะทำให้ยางมาปกติในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ก็ได้ แต่ก็ยังตอบไม่ได้
”ตอนแรกรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและ ผู้ว่าการ กยท. ยังเป็นห่วงเรื่องราคาตกต่ำอยู่เลย เมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่แล้ว มาช่วงนี้ราคาแซงยางแผ่นเลย วิ่งแบบไม่เหยียบเบรกเลย เนื่องจากโรงงานไม่มีสต๊อก แล้วก็จะต้องทำสต๊อกไว้เผื่อคู่ค้าประจำด้วย เพราะเหตุนี้ไม่ว่าราคาไหนก็ต้องซื้อ ไม่เช่นนั้นช่วงฤดูแล้งจะเอาที่ไหนส่งมอบให้ หากช่วงหลังจากนี้ราคาลงก็ไม่มีของให้ซื้อแล้ว นับว่าเป็นสัญญาณบวก แล้วต้องไปมองไปอีกประมาณ 2-3 เดือน คาดราคาน่าจะทรงตัว แนวโน้มราคาขึ้น ไม่มีราคาถอยแล้ว" นายพงศ์นเรศ กล่าวย้ำในช่วงท้าย
อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานสถานการณ์ราคายางพารา ณ วันที่ 24 มกราคม 2566 ราคากลางเปิดตลาดยางแผ่นดิบอยู่ที่ 45.56 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 50.22 บา/กก. ส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพารา ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 45.83 บาท/กก.และราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 51.04 บาพ/กก. ราคายางวันนี้ ในภาพรวมมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ราคายางวันนี้เพิ่มขึ้นสะท้อนปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่าการเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลบวกต่อความต้องการใช้ยางธรรมชาติของโลก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากตลาดยังคงกังวลว่าการเปิดประเทศของจีนนั้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้หลายๆ ประเทศดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ