การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นั้น หากพิจารณาจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญข้อมูลข่าวสารและตัวแปรต่างๆ จากตลาดทุน (เช่น ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว) ก็จะเห็นได้ว่ามีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก
ซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ พอจะสรุปได้ดังนี้
1. ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นไปมากแล้ว (คือปรับขึ้นถึง 4.5% ในปี 2022) ทำให้จะไม่ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปมากนักในปี 2023 คือ ปรับขึ้นไปอีก 0.50% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะถึงจุดสูงสุดประมาณ 5.0% และคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะต้องปรับตัวลดลง 0.50% เหลือ 4.5% ในปลายปีหน้า
2. กรณีหลังนี้เป็นไปได้มากขึ้นหากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่สภาวะถดถอยในต้นปีหน้า แต่ก็จะเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่รุนแรงมากนัก (mild recession) ซึ่งจะอยู่ในภาวะตกต่ำเพียง 8-9 เดือน หลังจากนั้นเศรษฐกิจสหรัฐก็น่าจะฟื้นตัว ทำให้จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 1% ในไตรมาส 4 ของปีหน้า
3. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ (โดยถึงขั้นที่จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวในไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3) จะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ในสหรัฐปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจากประมาณ 5-6% ในปีนี้เหลือเพียง 3% ในปีหน้าและลดลงไปอีกเหลือ 2.0% ในปี 2024 และ ปีต่อๆ ไป
4. แนวโน้มที่กล่าวในข้อ 3 นั้น ตลาดน่าจะมีความมั่นใจอย่างมากว่าจะเกิดขึ้นจริง เห็นได้จากผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากกลางปีนี้มาเหลือเพียง 3.5% อยู่นานหลายเดือนแล้วและต่ำกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปีมากถึง 0.8%
ในระยะยาวนั้น ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลจะต้องได้รับผลตอบแทนจริง (หักลบเงินเฟ้อ) ประมาณ 1.5-2.0% ดังนั้น ผลตอบแทนที่ 3.5% แปลว่านักลงทุนมั่นใจอย่างมากว่าใน 2-3 ปีข้างหน้า ธนาคารกลางสหรัฐจะคุมเงินเฟ้อลดลงเหลือ 1.5-2.0% ต่อปี
5. ราคาพลังงานเริ่มมีเสถียรภาพ และตลาดคงจะคาดว่าราคาน้ำมันจะไม่มีบทบาทอะไรในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อของโลก ส่วนหนึ่งคงจะเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยืดเยื้อต่อไป แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม
คำถามที่ตามมาคือในปี 2023 จะมีอะไรเกิดขึ้นผิดความคาดหมายหรือไม่ ตรงนี้ต้องอย่าลืมว่า ตอนต้นปี 2022 ที่กำลังจะหมดไปนั้น
ธนาคารกลางสหรัฐยังยืนยันว่าเงินเฟ้อที่สหรัฐเป็นปัจจัยชั่วคราว (inflation is transitory) และตลาดก็คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปี 2022 เพียง 1.0-1.5% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปมากกว่า 4.0% (และยังจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 0.50-0.75% ในปี 2023)
สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้นก็มีแนวคิดเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจในปี 2023 ดังนี้
1. จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในปลายปี 2022 ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะไปได้ดี (ทำให้มีรายได้เข้าประเทศที่ดีเกิดคาดและช่วยให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่ผมคาดการณ์เอาไว้)
และทำให้มั่นใจว่าปี 2023 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 20 ล้านคน ช่วยทำให้ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด
2. เงินเฟ้อในประเทศไทยน่าจะปรับลดลงได้เป็นลำดับ ทำให้มั่นใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2023 แต่ผมเองนั้นยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้น
เพราะเงินบาทสามารถปรับเปลี่ยนกลับมาอ่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการส่งออกสินค้าน่าจะชะลอตัวลงได้อย่างมากในปี 2023 ทำให้ประเทศไทยอาจขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในภาวะที่ส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยสหรัฐกว้างมากในปี 2023
3. ไตรมาสที่ต้องเพ่งเล็งมากที่สุดคือไตรมาส 2 ซึ่งน่าจะเป็นไตรมาสที่มีการเลือกตั้งทั่วไปและจะเป็นการเลือกตั้งที่มีแนวโน้มสูงที่จะมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงกว่าปกติ
บางคนมองว่าเป็นไตรมาสที่นักการเมืองต้องเอาเงินออมออกมาใช้หาเสียง ทำให้เศรษฐกิจคึกคัก แต่ผมมองว่าปัจจัยลบจะมีมากกว่าคือ
จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะลดลงตามฤดูกาล
การส่งออกสินค้าน่าจะได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่จากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก
ภาวะสุญญากาศทางการเมืองจะทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความชัดเจน
หากเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นไตรมาส 2-3 ไปได้ดี รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ในไตรมาส 3 และต้องกลับมาประเมินปัจจัยอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในตอนต้น
เช่น การเปิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีน (ตลอดจนการประเมินว่าจีนจะเปิดเศรษฐกิจแบบส่งเสริมให้คนจีนเดินทางไปใช้เงินในต่างประเทศหรือให้ใช้เงินในประเทศมากกว่า) และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่าจะรุนแรงมากขึ้นไปอีกในครึ่งหลังของปี 2023 หรือจะสามารถริเริ่มการเจรจาเพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งโดยอาศัยการเจรจาทางการทูตได้
ในปี 2023 นั้นต้องอย่าลืมว่าเป็นปีที่ดอกเบี้ยโลกจะอยู่ที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ดอกเบี้ยของไทยจะเป็น “ขาขึ้น” ตลอดปี ซึ่งภาระที่ดอกเบี้ยสูงหรือเป็นขาขึ้นนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจ จึงต้องเตรียมระมัดระวังว่าอาจมีเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ เช่น กรณี FTX เป็นต้นครับ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |