“สถานการณ์ยางประจำไตรมาสที่ 4 คาดการณ์ผลผลิตยางปี 2565 เป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน โดยผลผลิตยางไตรมาสนี้ มีปริมาณอยู่ที่ 1.677 ล้านตัน และช่วงตุลาคมที่ผ่านมา เกิดฝนตกชุก น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและใต้ แหล่งปลูกยางสำคัญของประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตยางในประเทศลดลงประมาณ 43% ส่วนการส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.15 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน”
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) วิเคราะห์สถานการณ์ยางพาราประจำไตรมาส 4/2565 ในงาน Talk About Rubber ครั้งที่ 5
สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติได้แก่ อุตสาหกรรมถุงมือยาง สมาคมถุงมือยางประเทศมาเลเซีย คาดการณ์ว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมถุงมือยางจะเติบโตขึ้น 12-15% หลังจากที่หดตัวลง 19% ในปีนี้
ส่วนอุตสาหกรรมยางล้อ สมาคมผู้ผลิตยางล้อแห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์การจัดส่งยางล้อของสหรัฐฯปีนี้จะมีทั้งหมด 342.1 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 2.1% จากปี 2564 สถานการณ์การผลิตยางล้อในยุโรป สมาคมผู้ผลิตยางล้อยุโรป รายงานว่า ตลาดยางทดแทนในยุโรปลดลงในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 ส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวลงภายหลังจากการฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ด้าน Sublime China Information รายงานว่ากำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางล้อ (Semi-steel tire) ในประเทศจีนอยู่ที่ 54.18% ลดลง 2.3% ปัจจัยที่ทำให้กำลังการผลิตลด เนื่องจากโรงงานยางล้อในมณฑลชานตงลดปริมาณกำลังการผลิตยางล้อ ประชาชนจีนยังคงระมัดระวังการเดินทางต่างพื้นที่ทำให้มีแนวโน้มการเปลี่ยนล้อยางลดลง และโรงงานยางล้อบางแห่งต้องลดกำลังการผลิตเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน”
ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. ได้วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมด้วยว่า สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มชะลอลงจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้
ด้านยูโรโซน มีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีหลัง จากวิกฤติพลังงานรุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
และทางฝั่งประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก มีการฟื้นตัวเปราะบางในหลายภาคส่วนจากมาตรการ Zero Covid การล็อกดาวน์บางพื้นที่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางจีนได้ใช้มาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
จากภาวะเศรษฐกิจแปรปรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ คาดการณ์ได้ว่า...ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้จะยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกมีความต้องการใช้ยางพาราน้อยลง
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ |