TLA LATEX
   
 
วันที่ 19/07/2568
53.20 บาท/กก.
 
วันที่ 18/07/2568
1,330.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   ภาษีทรัมป์สะเทือนอุตฯ ยางรถยนต์ ค่ายข้ามชาติชะลอลงทุนในไทย new

ยักษ์ใหญ่ยางรถยนต์โลกชะลอการลงทุนในไทย รอความชัดเจน หลังสหรัฐเตรียมเก็บภาษีสินค้าตอบโต้ไทย 36% จับตาหากไทยต่อรองไม่สำเร็จ อาจเห็นการย้ายฐานผลิตไปโกตดิวัวร์ ที่ได้ภาษีเพียง 21% และมีวัตถุดิบยางพาราอันดับ 1 ในแอฟริกา

จากที่สหรัฐอเมริกาประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% ภายใต้ Reciprocal Tariff ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2568 กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ในไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตระดับโลกที่ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก หากไทยไม่สามารถต่อรองอัตราภาษีให้ตํ่าลงได้


นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้สหรัฐยังเปิดให้เจรจาอัตราภาษีใหม่ก่อนถึงเส้นตาย แต่ภาวะไม่แน่นอนนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้ามชาติหลายรายตัดสินใจชะลอการลงทุนในไทย ทั้งการขยายกำลังผลิตและการลงทุนโครงการใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มองไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยางล้อรถยนต์เพื่อป้อนตลาดสหรัฐ



ปัจจุบัน ไทยเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน มีแบรนด์ระดับโลกตั้งโรงงานในประเทศ อาทิ บริดจสโตน, โยโกฮาม่า, มิชลิน, ดันลอป, คอนติเนนทอล, กู๊ดเยียร์, แม็กซิส รวมถึงค่ายจีน เช่น หลิงหลง ไทร์, หวาอี้ กรุ๊ป และตาตี้ กรุ๊ป


ข้อมูลปี 2567 ไทยส่งออกยางยานพาหนะมูลค่า 265,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ 246,382 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.7% โดยตลาดส่งออกอันดับ 1 คือสหรัฐฯ ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ไทยส่งออกไปมูลค่า 51,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน


ผลกระทบที่น่ากังวลคือ หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี 36% จริง จะกระทบกลุ่มยางล้อรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น ยางรถบรรทุก ยางรถโดยสาร และยางอุตสาห กรรมโดยตรง ขณะที่ยางรถยนต์นั่งถูกเก็บภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ที่ 25% ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ นอกจากผลกระทบต่อการส่งออกแล้ว ยังเริ่มเห็นแรงกระเพื่อมต่อการลงทุนของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนักลงทุนใหม่ และรายเดิมที่กำลังจะขยายไลน์การผลิต ต่างอยู่ในสภาวะชะลอและรอดูท่าทีอย่างกว้างขวาง


นายหลักชัยยังระบุว่า หากไทยไม่สามารถเจรจาให้อัตราภาษีลดลงจาก 36% ได้ทันก่อนบังคับใช้จริง นักลงทุนบางรายอาจจะพิจารณาเริ่มย้าย / ขยายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่นที่มีภาษีตํ่ากว่า โดยเฉพาะ โกตดิวัวร์ (ชื่อเดิมคือไอวอรี่โคสต์) ซึ่งได้รับสิทธิภาษีนำเข้าจากสหรัฐเพียง 21% ซึ่งโกตดิวัวร์ถือเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก อันดับ 1 ของแอฟริกา และอันดับ 4–5 ของโลก มียางพาราเพียงพอสำหรับรองรับการขยายฐานผลิตยางล้อในระยะยาว ซึ่งอาจดึงดูดผู้ผลิตรายใหญ่จากไทยไปตั้งโรงงานใหม่ในอนาคต



ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ :  16 กรกฎาคม 2568
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com