TLA LATEX
   
 
วันที่ 21/01/2568
68.80 บาท/กก.
 
วันที่ 20/01/2568
1,585.00 USD/MT (@ B/USD)
ข้อบังคับ
สมาคมน้ำยางข้นไทย
 

หมวดที่ 1
บทความทั่วไป

ข้อ 1. ชื่อของสมาคมการค้า สมาคมการค้านี้มีชื่อว่า “ สมาคมน้ำยางข้นไทย ” เขียนชื่อเป็น ภาษาอังกฤษว่า “ THAI LATEX ASSOCIATION ” เขียนชื่อเป็นภาษาจีนว่า คำว่า “ สมาคม ” ต่อไปในข้อบังคับนี้ ให้หมายถึง “ สมาคมน้ำยางข้นไทย ”

ข้อ 2. สำนักงานของสมาคม สำนักงานของสมาคมนี้ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 60 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110

ข้อ 3. ตราของสมาคม เป็นดังนี้

หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม

      สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับการผลิตและส่งออกน้ำยางข้น
  2. สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกสอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าน้ำยางข้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจการค้าอุตสาหกรรม การเงิน หรือเศรษฐกิจ
  3. ประสานความสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันในทางวิชาการข่าวสารการค้า ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบการผลิตและส่งออกน้ำยางข้น
  4. ขอสถิติหรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการผลิตและส่งออกน้ำยางข้น ทั้งนี้โดยความยินยอมของสมาชิก
  5. ส่งเสริมคุณภาพสินค้าน้ำยางข้นที่สมาชิกเป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายให้เข้าสู่มาตรฐานที่ดีตลอดจนวิจัยและปรับปรุงการผลิตการค้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
  6. ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการผลิตและส่งออกน้ำยางข้นให้อยู่ในมาตรฐานที่ดีสอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
  7. ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบวิสาหกิจของสมาชิกจะได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
  8. ส่งเสริมพลานามัย กีฬา และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
  9. ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบวิสาหกิจ
  10. ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านสวัสดิการเท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
  11. ไม่ดำเนินการในทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น
  12. ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการซื้อ หรือให้โดยเสน่หา หรืออุทิศให้เพื่อใช้เป็นที่ทำการ หรือดำเนินกิจการของสมาคม
  13. จัดพิมพ์วารสารเกี่ยวกับยาง เพื่อจำหน่าย หรือจ่ายแจกแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป
  14. จัดประชุม อบรม สัมมนา ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  15. เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร หรือสมาคมอื่นใด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  16. บริจาคเงินแก่หน่วยงาน องค์กร หรือสมาคมอื่นใด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  17. การดำเนินการเพื่อการออกหนังสือรับรองต่าง ๆ

หมวดที่ 3
สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ 5. ประเภทสมาชิก

     สมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

     5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจ ประเภทเกี่ยวกับการผลิตและส่งออกน้ำยางข้น ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
     5.2 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจการค้าน้ำยางข้น หรือเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำยางข้น โดยได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
     5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลธรรมดาที่ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญ

 

ข้อ 6. คุณสมบัติของสมาชิก

     สมาชิกของสมาคมการค้านอกจากคุณสมบัติตามข้อ 5 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ

     (1) ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา

          1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
          2. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
          3. ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลมาก่อน เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
          4. ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม
          5. เป็นผู้มีฐานะมั่นคงคงพอสมควร
          6. เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

     (2) ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
          1. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
          2. มีฐานะมั่นคงพอสมควร ให้นำความในข้อ 6 (1) มาใช้บังคับแก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกตามข้อ 10 ด้วย

 

ข้อ 7. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก

     สมาชิกผู้ที่ประสงค์เข้าเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสมาคมจะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 2 คน

 

ข้อ 8. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก

     ให้เลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคมในคราวต่อไปครั้งแรกหลังจากที่ได้รับใบสมัคร เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกแล้วให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครผู้นั้นทราบภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้ลงมติ

 

ข้อ 9. วันเริ่มสมาชิกภาพ

     สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่คณะกรรมการมีมติรับเข้าเป็นสมาชิก

 

ข้อ 10. สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล

     สมาชิกที่เป็นนิติบุคคลจะต้องแต่งตั้งผู้แทน ซึ่งจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นได้ 1 คน หรือมากกว่า เพื่อปฏิบัติกิจการในหน้าที่และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้น

 

ข้อ 11. การขาดจากสมาชิกภาพ

     สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
  2. ขาดคุณสมบัติตามข้อ 5.1 หรือ 5.2 แล้วแต่กรณี
  3. ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการเห็นชอบ
  4. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
  5. ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่กำหนดโทษ ขั้นลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
  7. คณะกรรมการของสมาคมลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกโดย คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
          - เจตนากระทำการใด ๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง
          - เจตนาละเมิดข้อบังคับ
          - ไม่ชำระเงินค่าบำรุงสมาคมเกินกว่า 1 ปี และได้รับใบเตือนจากเจ้าหน้าทครบกำหนดสามสิบวันแล้ว

 

ข้อ 12. ทะเบียนสมาชิก

     ให้นายทะเบียนสมาคมจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม โดยมีรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

หมวดที่ 4
ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุง

ข้อ 13. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

  1. สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญจะต้องชำระค่าบำรุง ปีละ 2,000 บาท
  2. สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น

 

14. ค่าบำรุงพิเศษ

  1. สมาคมอาจเรียกเก็บหรือยกเลิกการเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกก็ได้ โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด
  2. สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญจะต้องชำระค่าบำรุงพิเศษให้แก่สมาคม โดยคำนวณจากเครื่องปั่นน้ำยางข้น ซึ่งติดตั้งอยู่ ณ โรงงานของสมาชิกในอัตราเครื่องละ 300 บาทต่อปี ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป

หมวดที่ 5
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 15. สิทธิของสมาชิก

  1. ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคมจากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
  2. เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคมหรือคณะกรรมการของสมาคมในเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
  3. ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์ของสมาคมได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการ
  4. เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการเสนอญัตติ ในการประชุมใหญ่สมาชิก
  5. สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ

 

ข้อ 16. หน้าที่ของสมาชิก

  1. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งของสมาคม มติของที่ประชุมใหญ่ และมติของคณะกรรมการด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด
  2. ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
  4. ชำระค่าบำรุงประจำปี และค่าบำรุงพิเศษให้แก่สมาคม ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 30 วัน หลังจากได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเหรัญญิกของสมาคม
  5. ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีธรรม
  6. สมาชิกผู้ใดเปลี่ยน ชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคลจะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่เปลี่ยนแปลง

หมวดที่ 6
คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 17. การเลือกตั้งคณะกรรมการของสมาคม

     ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมและเป็นผู้แทนของสมาคม ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน
     เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ จะมีมติเป็นอย่างอื่น การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับ โดยให้สมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญ เสนอชื่อของสมาชิกสามัญ ซึ่งตนประสงค์จะให้เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกสามัญอื่นรับรองไม่น้อยกว่าสองคน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้งให้ผู้ได้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคแรก และตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรมการคราวนั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่ เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับฉลาก
     ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเอง เพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคม อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ตำแหน่งละ 1 คน และตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสมด้วยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการที่จะได้กำหนดหน้าที่ตามที่เห็นสมควร
     คณะกรรมการของสมาคมอยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละ  2 ปี ทั้งนี้ให้เริ่มวาระตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง

 

ข้อ 18. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ

     กรรมการย่อมพ้น จากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ออกตามวาระ
  2. ลาออกโดยคณะกรรมการของสมาคมได้ลงมติอนุมัติแล้ว เว้นแต่การลาออก เฉพาะตำแหน่ง ตามข้อ 17 วรรคสาม
  3. ขาดจากสมาชิกภาพ
  4. ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนจากการเป็นกรรมการ
  5. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  สั่งให้ออกตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
  6. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

 

ข้อ 19. หากตำแหน่งในคณะกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ

     ให้คณะกรรมการที่เหลือแต่งตั้งสมาชิกสามัญขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยให้อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากำหนดเวลาผู้ซึ่งตนแทน
     กรณีกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดออกตามวาระให้คณะกรรมการชุดซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้น ดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นแทนภายใน 180 วัน ในกรณีนี้ให้นำความในข้อ 24 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

 

ข้อ 20. องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ

     กรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงนับได้ว่าเป็นองค์ประชุม

 

ข้อ 21. มติของที่ประชุมคณะกรรมการ

     ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

ข้อ 22. ประธานในที่ประชุม

     ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ อุปนายกปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้านายกและอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมในคราวนั้น

 

ข้อ 23. การประชุมคณะกรรมการบริหาร

     ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในกรณีจำเป็นนายกสมาคมหรือกรรมการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมการสมาคมจะเรียกประชุมพิเศษขึ้นก็ได้

 

ข้อ 24. การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ

     เมื่อมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดสงขลา ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง และส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯ รับจดทะเบียน

ในกรณีที่ นายทะเบียนสมาคมการค้า ฯ ยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมต่อไปจนกว่า นายทะเบียน สมาคมการค้า ฯ จะรับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว

 

ข้อ 25. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

  1. จัดดำเนินงานกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ
  2. เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการบริหาร
  3. ว่าจ้างแต่งตั้งและถอดถอนที่ปรึกษาของคณะกรรมการของสมาคม อนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ และพนักงานทั้งปวง เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย

 

ข้อ 26. อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้

     (1)  นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคมเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ดำเนินกิจการของสมาคมอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดจนในที่ประชุมใหญ่
     (2)  อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง  อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคมและเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
     (3)  เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของสมาคม เป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
     (4)  เหรัญญิก มีหน้าที่รักษา และจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงิน เก็บรักษา และจ่ายพัสดุของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
     (5)  นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่าง ๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
     ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่  7 การประชุมใหญ่มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวดที่ 7
การประชุมใหญ่

ข้อ 27. การประชุมใหญ่

     ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน การประชุมเช่นนี้เรียกว่า การประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่คราวอื่น นอกจากการประชุมใหญ่ตามวรรคก่อน เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ

 

ข้อ 28. กำหนดการประชุมใหญ่มีดังนี้

  1. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับจาก วันสิ้นปีบัญชีของทุกปี
  2. ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร หรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแสดงความจำนง โดยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการให้คณะกรรมการบริหารนัดประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 15 วัน นับแต่วันลงมติหรือวันที่ได้รับคำร้องขอ

 

ข้อ 29. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม

     คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึง วัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ โดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนสมาชิก หรือส่งให้ถึง ตัวสมาชิกก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน

 

ข้อ 30. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่

     ในการประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงถือว่าเป็นองค์ประชุม

 

ข้อ 31. กรณีที่การประชุมในครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม
      การประชุมใหญ่ที่ได้เรียกนัดประชุมวันและเวลาใด หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้ว 1 ชั่วโมง ยังมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้นได้เรียกนัดเพราะสมาชิกร้องขอให้เลิกประชุม ถ้ามิใช่ขอให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุมวัน เวลา และสถานที่ใหม่อีกครั้งภายใน 15 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมใหญ่คราวหลังจะมีสมาชิกมามากน้อยเพียงใด ก็ให้ถือว่าครบเป็นองค์ประชุม

 

ข้อ 32. ประธานในที่ประชุม

      ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกและอุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น

 

ข้อ 33. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่

     สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และสมาชิกสามัญคนหนึ่ง ๆ มีคะแนนเสียง 1 เสียง การออกเสียงในที่ประชุมใหญ ให้ถือปฏิบัติ 2 กรณี คือ

  1. โดยวิธีเปิดเผยให้ใช้วิธีชูมือ
  2. โดยวิธีลงคะแนนลับให้เขียนบัตรลงคะแนน และจะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการบริหารหรือสมาชิกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมร้องขอ

 

ข้อ 34. มติของที่ประชุมใหญ่

      นอกจากที่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

 

ข้อ 35. กิจการอันพึงกระทำในที่การประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีดังนี้

  1. รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
  2. พิจารณารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินกิจการของสมาคมที่ผ่านนมา ในรอบปี
  3. พิจารณาอนุมัติงบดุล
  4. เลือกตั้งคณะกรรมการของสมาคม (ในปีที่ครบวาระ)
  5. เลือกตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีและกำหนดค่าตอบแทน
  6. เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

 

หมวดที่ 8
การเงิน และการบัญชีของสมาคม

ข้อ 36. วันสิ้นปีทางบัญชี

     ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมการค้า

 

ข้อ 37. การจัดทำงบดุล

     ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลปีที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปี ทางบัญชีนั้นแล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปีไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

     งบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่สิ้นปีทางบัญชี

     เมื่อเสนองบดุล ให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำป แสดงผลการดำเนินงานของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย

     ให้สมาคมส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดสงขลา ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่

     อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสมาคมเพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้

 

ข้อ 38. อำนาจของผู้สอบบัญชี

     ผู้สอบบัญชีซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว และต้องให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการตรวจสอบ

 

ข้อ 39. การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน

      ต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคมและให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิก

 

ข้อ 40. การเงินของสมาคม

     ให้เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) เงินจำนวนที่เกินกว่านี้ให้นำไปฝากธนาคารในนามสมาคมโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่

 

ข้อ 41. การจ่ายเงินของสมาคม ให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับ ต่อไปนี้

  1. จำนวนเงินไม่เกิน  5,000  บาท เป็นอำนาจของเหรัญญิก
  2. จำนวนเงิน  5,000  บาท ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 10,000 บาท เป็นอำนาจของนายกสมาคม
  3. จำนวนเงิน  10,000  บาท ขึ้นไป เป็นอำนาจของคณะกรรมการ

 

ข้อ 42. อำนาจการสั่งจ่ายเงิน

     การสั่งจ่ายเงินฝากในธนาคารให้มีลายมือชื่อของบุคคล 2 คน จาก 3 คน คือ นายกสมาคม อุปนายก เหรัญญิก และต้องประทับตราของสมาคม

หมวดที่ 9
การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

ข้อ 43. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือตัดทอนข้อบังคับ

     ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือ เพิ่มเติมได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สมาชิกสามัญที่มาประชุม

 

ข้อ 44. การเลิกสมาคม   สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้

  1. เมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้เลิก ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด
  2. เมื่อล้มละลาย
  3. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509

 

ข้อ 45. การชำระบัญชี

     เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งดังกล่าวในข้อ 44 การชำระบัญชี ของสมาคม ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาใช้บังคับ

  • - ในกรณีเลิกตามข้อ 44.1 ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีด้วย
  • - หากเลิกตามข้อ 44.2 ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการของสมาคมชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการของสมาคมต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดสงขลาเป็นผู้ชำระบัญชีหากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชี ให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใดหรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่

หมวดที่ 10
บทเฉพาะกาล

ข้อ 46. เมื่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดสงขลาได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าแล้ว ให้ถือว่าผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคนทำหน้าที่คณะกรรมการของสมาคมชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ ซึ่งจะต้องจัดใหม่ขึ้นภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าแล้ว
     ภายใต้บังคับแห่งความในวรรคแรก กรณีที่มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรกในช่วงเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่สิ้นปีทางบัญชีของสมาคม ให้ถือเอาวันที่สิ้นปีทางบัญชีของสมาคมเป็นวันตั้งต้นคำนวณวาระกรรมการตามข้อ 17 วรรคสี่

 

ข้อ 47. ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ

 

ข้อ 48. ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดสงขลาได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเป็นต้นไป

 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com