(4 ก.ค. 68) ณ ห้องประชุมธารทิพย์ อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังเข้ารับตำแหน่ง พร้อมด้วยนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมรับฟังนโยบาย ด้านการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง รักษาการแทน ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังนโยบายสำคัญดังกล่าว เพื่อนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบต่อไป . นโยบายที่ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ มอบครั้งนี้ เป็นการสานต่อ 9 นโยบายสำคัญ ที่มุ่งยกระดับภาคเกษตรไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้หลักการทำงาน "พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์" สำหรับนโยบายดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้ . 1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ: เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช และขยายครอบครัวเกษตร บูรณาการงานอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนสานต่อภารกิจการกำกับดูแลสินค้าเกษตร 2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร: ยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน 3. บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ: จัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน 4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง: เน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ ขยายผลในท้องถิ่น 5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร: พัฒนาความรู้ ทักษะ และขีดความสามารถของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร: ทำการเกษตรใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน 7. รับมือกับภัยธรรมชาติ: เตรียมพร้อมและมีมาตรการเชิงรุก ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด 8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน: ปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เข้มงวด รวมถึงตรวจสอบสต็อกสินค้าเกษตรในประเทศและควบคุมการนำเข้า ป้องกันการกักตุน และเก็งกำไร 9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร: พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร ผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ . นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังเพิ่มมาตรการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอีก 2 มาตรการ ได้แก่ 1. ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ โดยการจัดหาพันธุ์พืช ประมง และปศุสัตว์ ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร และบริหารจัดการด้านการตลาด 2. เสริมแกร่งเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้ ขยายเวลาชำระหนี้และสร้างวินัยทางการเงินแก่เกษตรกร สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร พร้อมปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นปัญหาต่อเกษตรกร . ทั้งนี้ กยท. พร้อมนำนโยบายทั้ง 9 ข้อ ไปขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กยท. เพื่อพัฒนาและยกระดับยางพาราไทยทั้งระบบ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมไทยสอดรับกับนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คนปัจจุบัน
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |