"ยางพารา" เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกยางพารา อันดับ 1 ของโลก ไทยส่งออก 37.5% และมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกว่า 22 ล้านไร่ โดยยางพาราเป็นพืชชนิดเดียวในโลกที่ถูกกรีดและทำให้เกิดบาดแผลซ้ำๆ กระตุ้นการสร้างสารพฤกษเคมีพิเศษนานาชาติสำหรับสมานแผล และต่อต้านการบุกรุกจากเชื้อก่อโรค
ข้อมูลปี 2563-2567 พบว่าปริมาณน้ำยางสดเฉลี่ย 4,800 ล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งจากกระบวนการรีดยางในอุตสาหกรรม พบว่า 30-40% จะเป็นเนื้อยาง และ 60-70% สามารถนำมาเป็นเซรั่มน้ำยางพารา โดย "เซรั่มน้ำยางพารา" อุดมไปด้วยสารชีวโมเลกุลหลายชนิด ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 1% w/v ไขมัน 0.9-1.7% w/v โปรตีน 1% w/v สารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์อื่นๆ 1% w/v ทำให้การใช้เซรั่มน้ำยางพารา สู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ มีสารต้านอัลไซเมอร์ มะเร็ง ป้องกันโรคกระดูกพรุน และป้องกันโรคเบาหวาน ได้
ที่สำคัญสามารถเพิ่มมูลค่า ผลิตภัณฑ์จากเดิมได้ไม่น้อยกว่า 100 เท่า และเพิ่มมูลค่าราคายางพาราแก่ผู้ประกอบการได้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ภูมิภาค ได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ในปี 2570 ทั้งยังส่งผลให้เกิดนวัตกรรม และสิทธิบัตรนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยี การสกัดสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมูลค่าสูง
HeLP เซรั่มน้ำยางพารา ช่วยปรับสมดุล วันนี้ (14 พ.ค.2568) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้แถลงข่าว "HeLP ชีวโมเลกุลยางพารา นวัตกรรมปรับสมดุลระดับเซลล์" ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของทีมวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ (CERB) สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (หลักสูตรชีวเคมี) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รศ.ดร.ภก.ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา ทีมวิจัยจาก CERB คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าจากการศึกษาเกี่ยวกับยางพารามาอย่างต่อเนื่อง พบว่าต้นยางพารามีการสร้างสารมากมายเพื่อให้ตัวเองดำรงชีวิตแม้จะต้องโดนกรีดยางทุกวัน จึงได้มีการศึกษาว่ามีสารอะไรบ้าง ขณะเดียวกันปริมาณของเซรั่มน้ำยางพาราที่ถูกทิ้งหลายพันล้านลิตรต่อปีควรจะนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเซรั่มน้ำยางพารามีองค์ประกอบของน้ำตาลสูงมากที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ นักวิจัยมองเซรั่มน้ำยางพาราเหมือนสมุนไพร ที่ต้องมีการนำมาสกัด คิดค้นสารต่างๆ ที่มีฤทธิ์ทางยาเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"HeLP ชีวโมเลกุลยางพารา" เป็นการนำเซรั่มน้ำยางพารามาใช้ ที่มีการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสารกลุ่ม Polysaccharide ที่มีน้ำหนักโมเลกุลอยู่ในช่วงระหว่าง 13-19 kDa และผ่านเกณฑ์การทดสอบว่าไม่มีสารอันตรายปนเปื้อน ไม่มีสารตกค้าง เชื้อจุลินทรีย์ ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และมีความปลอดภัย ไม่เป็นพิษ
สรรพคุณ HeLP ชีวโมเลกุลยางพารา ดูแลสุขภาพ HeLP ชีวโมเลกุลยางพารา ช่วยปรับสมดุล ผ่าน Gut-Microbiota-Immune-Brain-Axis ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่พึ่งมีการค้นพบ โดยมีระบบการสื่อสารระหว่างจุลินทรีย์ในลำไส้ ระบบภูมิคุ้มกัน และสมอง ผ่านกลไกต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ HeLP มีสรรพคุณหลายด้าน ทั้งพรีไบโอติกที่ช่วยทำให้ทางเดินอาหารสุขภาพดีขึ้น และมีการทำงานร่วมกับสมอง ซึ่งหากรับประทานอะไรดีๆ ก็จะมีการหลั่งสารพิเศษและทำให้สุขภาพดีขึ้นรศ.ดร.ภก.ฐณะวัฒน์ กล่าว
จากการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่ามีพรีไบติกที่ช่วยส่งเสริมความสามารถของพรีไบโอติกในการยับยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคหลายสายพันธุ์ นอกจากนั้น มีผลต้านมะเร็งโดยลดขนาดก้อนมะเร็งในสัตว์ทดลอง พร้อมช่วยยับยั้ง 4 ในกลไกที่สำคัญ คือ การเจริญของมะเร็ง การเกิดหลอดเลือดใหม่ การอักเสบ และการแพร่กระจาย รวมถึงต้านการอักเสบระดับเซลล์ ลดการเกิดบาดแผลในทางเดินอาหาร หรือกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดการสมานแผล
รศ.ดร.ภก.ฐณะวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ได้มีการจดสิทธิบัตรทั้งในไทยและต่างประเทศ และอยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียน HeLP เป็นอาหารใหม่ (novel food) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในกลางปีนี้ รวมถึงอยู่ระหว่างการสร้างโรงงาน Biorefinery เซรั่มน้ำยางพารามาตรฐาน GMP แห่งแรกของโลกในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ โดยบริษัท อินโนซุส จำกัด
ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีความสามารถในการสกัดเซรั่มน้ำยางพาราได้วันละประมาณ 20,000 ลิตร ซึ่งจะผลิต HeLP ได้ประมาณเดือนละ 5,000 กิโลกรัม รวมถึงยังสามารถผลิต functional ingredients อื่นๆ โดยมีศักยภาพพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเวชสำอาง อาหารฟังก์ชั่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นวัตกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รายแรกของโลก! นวัตกรรมจากเซรั่มน้ำยางพารา นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าการค้นพบ "สารชีวโมเลกุลใหม่ HeLP (Hevea Latex Polysaccharide) จากเซรั่มน้ำยางพารา" นวัตกรรมปรับสมดุลระดับเซลล์ โดยทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่ค้นพบสารใหม่เท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนากระบวนการสกัดในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลกอีกด้วย
การค้นพบดังกล่าว เป็นการสร้างโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี(Biorefinery) หรืออุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตร และทรัพยากรชีวภาพ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง(Inclusive economy)
รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Economy ที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เนื่องจากเป็นการพัฒนาภาคเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า(Regenerative economy) สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เซรั่มน้ำยางพาราซึ่งเป็นผลพลอยได้เหลือทิ้งในกระบวนการผลิตไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals SDGs)
อย่างไรก็ตาม อว. โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) รวมทั้งภาคเอกชนได้สนับสนุนให้ศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเซรั่มน้ำยางพารา (CERB) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนานวัตกรรมการใช้ เซรั่มน้ำยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคอุตสาหกรรม และการแพทย์ ซึ่งเป็นการนำเซรั่มน้ำยางพารามาผ่านกระบวนการได้เป็นสารต้านอัลไซเมอร์ มะเร็ง ป้องกันโรคกระดูกพรุน ป้องกันโรคเบาหวาน
ขณะที่ "CERB" ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากเซรั่มน้ำยางพารามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท จากทั้งภาครัฐ และเอกชน ผ่านหน่วยงานให้ทุนต่างๆ ภายใต้กระทรวง อว. เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท อินโนซุส จำกัด
ที่สำคัญการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมุ่งเน้นการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมด้านยางพาราในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสร้างผลกระทบ (impact) ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ได้แก่ ลดมลพิษ และต้นทุนในการบำบัดเซรั่มจากโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
เพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยาง และส่วนของเซรั่ม ส่งเสริมสหกรณ์กองทุนสวนยางให้มีมาตรฐาน GMP นำไปสู่การสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราใหม่ ที่สร้างความยั่งยืน และมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมยางพารา สอดคล้องตามวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ "มหาวิทยาลัยแห่งคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับแนวหน้าของโลก"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |