TLA LATEX
   
 
วันที่ 17-19/05/2568
60.50 บาท/กก.
 
วันที่ 16/05/2568
1,440.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   "ถุงมือยาง" กระทุ้งรัฐหนุนทุกมิติ ดันส่งออกแสนล้านแข่งมาเลเซีย new

อุตสาหกรรมถุงมือยางกระทุ้งรัฐช่วยหนุนทุกมิติ เพิ่มขีดแข่งขันมาเลเซียเบอร์ 1 โลก หวังดันยอดส่งออกทะลุแสนล้านในอนาคต ชี้ภาษีทรัมป์ไทยยังเสียเปรียบมาเลย์ 12% จี้รัฐบาลเร่งเจรจาต่อรองไม่ให้เสียเปรียบ หวังส้มหล่นส่งออกทดแทนสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีสูงถึง 145%


"ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง" เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยในปี 2567 ไทยมีการส่งออกยางพารา(ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป) มูลค่า 175,209 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39% และช่วง 3 เดือนแรกปี 2568 มีมูลค่าส่งออก 53,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% ส่วนผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแปรรูป) ในปี 2567 มีการส่งออก 498,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% และช่วง 3 เดือนแรกปี 2568 มีมูลค่าส่งออก 133,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5%


จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ยาง หรือยางแปรรูป มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่ายางพาราที่ใช้เป็นวัตถุดิบกว่าสองเท่าตัว โดยผลิตภัณฑ์ยางส่งออกสำคัญของไทยอยู่ในกลุ่มยางยานพาหนะ และถุงมือยาง


นายอดิศักดิ์ กองวารี นายกสมาคมถุงมือยางไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในปี 2567 ไทยมีการส่งออกถุงมือยาง 51,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น19% จากปีก่อน ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 มูลค่า 20,334 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของการส่งออกในภาพรวม ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกถุงมือยางของโลกมีมาเลเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 รวมถึงครองอันดับ 1 ของการส่งออกถุงมือยางไปสหรัฐ ส่วนอันดับ 2 และอันดับ 3 ของโลกคือจีน และไทย ตามลำดับ


“ก่อนหน้านี้ไทยเคยอยู่อันดับ 2 ของโลกด้านการส่งออกถุงมืองยาง แต่หล่นมาอยู่อันดับ 3 ถูกจีนแซงเนื่องจากไทยขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่ทั้งมาเลเซียและจีนได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ทั้งด้านการเงิน ต้นทุนด้านพลังงาน แรงงานฝีมือในอุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ ทำให้ผู้เล่นแต่ละรายมีต้นทุนตํ่า และกลายเป็นบริษัทระดับมหาชน หรือบริษัทขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น ส่วนของไทยต้องช่วยตัวเองแทบทุกด้านมานานกว่า 20 ปีแล้ว”


ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมถุงมือยางที่ไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบนํ้ายาง ที่มาเลเซียยังต้องซื้อจากไทย (หลังจากรัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายโค่นยางไปปลูกปาล์มนํ้ามัน) ซึ่งหากรัฐบาลประกาศให้การสนับสนุนในทุกด้านที่กล่าวมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงมียุทธศาสตร์หรือประกาศปักหมุดว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย และช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสู่ระดับแสนล้านบาทต่อปีได้


นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศจะเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไทย (Reciprocal Tariff) ในอัตรา 36% แต่ได้ประกาศชะลอการมีผลบังคับใช้ออกไป 90 วัน (เดิมจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 เม.ย. 2568) ขณะที่มาเลเซียจะถูกเก็บในอัตรา 24% และจีนถูกเก็บภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ในอัตรา 145% มองว่าการนำเข้าถุงมือยางของสหรัฐนับจากนี้ หากยังยึดตามอัตราภาษีดังกล่าว สินค้าถุงมือยางของมาเลเซียส่งไปสหรัฐจะยังคงได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากอัตราภาษียังตํ่ากว่าไทยถึง 12%


อย่างไรก็ดีไทยอาจเสียส่วนแบ่งตลาดสหรัฐให้มาเลเซียเพิ่มขึ้น แต่อาจได้อานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐทดแทนสินค้าจีนเพิ่มขึ้น หากสินค้าถุงมือยางจากมาเลเซียไม่สามารถผลิตและป้อนตลาดได้ทันความต้องการ เพราะอัตราภาษีของไทยตํ่ากว่าจีน


“ไทยต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ถ้าเราต่อรองภาษีได้ใกล้เคียงกับมาเลเซีย และมีการซัพพอร์ตจากหน่วยงานราชการหรือจากทางรัฐบาล โอกาสที่เราจะโตในอเมริกาก็มีอีกมหาศาล จากเราส่งออกไปสหรัฐทดแทนจีน ซึ่งจากที่เราส่งออกถุงมือยางในปีที่แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท เราสามารถโตได้เกือบแสนล้านบาทได้เลย” นายอดิศักดิ์ กล่าว



ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ :  10 พฤษภาคม 2568
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com