เครือข่าย กยท. 70 จังหวัด เดือด นัดรวมพลยื่นหนังสือร้องศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ วันนี้ (18 เม.ย.68) ร้องโดนพ่อค้ากดราคารับซื้อยางไม่เป็นธรรม ขีดเส้น 15 วัน ไม่เห็นผล ขู่ยกระดับการชุมนุม เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายฯ ที่ประกอบด้วย นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการ และคณะกรรมการเครือข่ายฯ อาทิ นายสวัสดิ์ ลาดปาละ,นายทรงวุฒิ ดำรงกูล,นายประสิทธิ์ คุณประสาท และ ประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ เป็นต้น รวมจังหวัดทั่วประเทศ นัดยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด 70 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางพารา วันที่ 18 เมษายน 2568 สืบเนื่องจากวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีการปรับราคายางทุกชนิดลดลงและตกต่ำประมาณ 10 บาทต่อ 1 กิโลกรัม อย่างมีนัยสําคัญและมีทีท่าว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ในด้านต้นทุนการผลิตและประสบภาวะขาดทุน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิตและครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก ทั้งที่ สินค้ายางพาราเป็น สินค้าทางเกษตรที่สำคัญและมีการควบคุม
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกลุ่มนายทุน บริษัทรับซื้อยางพารารายใหญ่ ได้ใช้วิธีการรับซื้อที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงเกินสมควร ทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคายาพาราในตลาด การกระทำดังกล่าวมีพฤติการณ์เจตนา ฝ่าฝืนกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29, มาตรา 41 โดยการกระทำดังกล่าว ไม่สะท้อนต่อราคาที่แท้จริง หวังเพียงเพื่อผลกําไรของกลุ่มทุนของตนเท่านั้น เป็นการเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ขาดไร้คุณธรรม ส่งผลต่อราคาตลาดในภาพรวม เป็นการฉกฉวยโอกาสและถือโอกาสกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม
โดยอาศัยสถานการณ์ที่ผู้นําประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการทางภาษี 36% ซึ่งมาตรการดังกล่าว ก็มีการเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันแล้ว และยางพาราที่ทำการซื้อขายก็ไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในห้วงการส่งออกไปยังต่างประเทศแต่ประการใด จึงอาจเข้าข่ายการกักตุนสินค้ายางพาราเพื่อเก็งกําไร หรือเป็นการกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ทางการค้าที่เอาเปรียบเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1.6 ล้านครอบครัว รวมสมาชิก 5 ล้านคน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ดังนั้นจึงขอความเมตตาจากคณะรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ, อธิบดีกรมสรรพากร และผู้อํานวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ได้โปรดร่วมกันพิจารณามีมาตรการช่วยเหลือชาวเกษตรกรชาวสวนยางพารา และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 1. ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศกำหนดราคาซื้อตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อชาวเกษตรกรชาวสวนยางพารา (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ)
2. ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศกำหนดตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ให้ผู้รับซื้อยางพาราแจ้งปริมาณ ณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการผลิต แผนการนําเข้า แผนการส่งออก แผนการซื้อ แผนการจําหน่าย แผนการเปลี่ยนแปลงราคา หรือรายการอื่นใดที่เกี่ยวข้องในการรับซื้อ การจําหน่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้ายางพาราให้มีเสถียรภาพทางราคา ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ)
3. เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติการณ์ หรือการกระทำที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคา สินค้ายางพาราต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้ายางพารา ให้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการ ทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควรหรือ ทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ) 4. ให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ สั่งการอธิบดีกรมการค้าภายใน และ/หรือเจ้าพนักงานที่ เกี่ยวข้อง ประสานการยางแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับนายทุน บริษัทรับซื้อยาพารา ที่ได้จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าราคาเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคายาพารา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 มาตรา 41, มาตรา 42 5. เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดน ที่มีความเสี่ยงต่อการ นํายางพาราที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ หรือนําเข้าจากต่างประเทศ ให้มีมาตรการในการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ป้องกันการลักลอบนําเข้า หรือการนํายางพารา นําเข้าสวมเป็นยาพาราในราชอาณาจักรไทย ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ หรือ คณะกรรมการส่วนจังหวัด อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่องการควบคุมการขนย้ายยางพาราและหลักเกณฑ์และวิธีการในการขออนุญาต การอนุญาต แบบหนังสืออนุญาต และวิธีการขนย้ายยางพาราที่เหมาะสมเป็นธรรมมีประสิทธิภาพ (โดยให้มีการหารือ ประสานข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนมีการออกประกาศ)
6. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ประสาน อธิบดีกรมสรรพากร, เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดี พิเศษ จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริษัทที่รับซื้อยางพาราที่มีการกดราคากับเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม มีการจัดทำบัญชีรับซื้อ/ขายไม่ตรงกับความเป็นจริง ราคาซื้อ ราคาจําหน่ายไม่ตรงกับต้นทุน (ข้อมูลบริษัท ดังกล่าวมีอยู่ที่การยางแห่งประเทศไทย ) อันมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยให้ อธิบดีเข้าไปหรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากเข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการนั้นๆ หรือ ยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่า เกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสีย เพื่อดำเนินการตามประมวลรัษฎากร ให้มีการชําระภาษีแก่รัฐโดยถูกต้อง ครบถ้วน โดยให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามกฎหมายทุกบทความผิดต่อไปด้วย 7. ให้ปรับปรุงบทกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป
8. ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ควบคุมยางฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยควบคุมสินค้าและบริการ เข้าตรวจบัญชีการรับซื้อยาง บัญชีคุมคุมสินค้า ตามประกาศคณะกรรมการ กลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ, พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อไปด้วย
9. ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการสินเชื่อเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง (คก. 10,000 ล้าน 5,000 ล้าน) ที่ผ่านคณะกรรมการยางธรรมชาติ (กนย.) เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จักได้รับความช่วยเหลือ และขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้ อย่างไรก็ดีทางกลุ่มเครือข่ายฯ ขอให้แจ้งตอบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้รับคําตอบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเราจะยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป
อนึ่ง สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา รายงานราคายางพารา ณ วันที่ 17 เมษายน 2568 ปรับราคาลงทุกชนิด ยางก้อนถ้วยปรับลงสูงสุด 3 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด ปรับลง 2.00 บาท ยางก้อนถ้วย(DRC 100) ปรับลง 3.00 บาท ยางก้อนถ้วย(DRC 50) ปรับลง 1.50 บาท ยางแผ่นดิบ ปรับลง 0.87 บาท ยางแผ่นรมควัน 3 ชั้น ปรับลง 0.30 บาท
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |