TLA LATEX
   
 
วันที่ 26-28/04/2568
54.40 บาท/กก.
 
วันที่ 25/04/2568
1,390.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   EU เล็งเปิดทางใช้คาร์บอนเครดิตต่างชาติ ดันเป้าลด CO2 ปี 2040 new

ท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองและเสียงคัดค้านจากภาคอุตสาหกรรมภายใน คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กำลังพิจารณาทางเลือกใหม่ที่อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป (EU) เมื่อมีรายงานจากแหล่งข่าววงในว่า EU กำลังพิจารณาเปิดทางให้นับรวมคาร์บอนเครดิตจากโครงการในต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2040


แนวคิดดังกล่าวอยู่ในระหว่างการหารือโดย ว็อพเคอ ฮุกสตรา (Wopke Hoekstra) กรรมาธิการด้านภูมิอากาศของ EU กับประเทศสมาชิกและสมาชิกรัฐสภายุโรป หลังจากแผนเดิมที่เตรียมจะเสนอเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนลง 90% ภายในปี 2040 ถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมเมื่อเดือนที่แล้ว โดยยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความตึงเครียดระหว่างเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมกับประเด็นทางการเมืองอื่นๆ ที่กำลังแย่งชิงพื้นที่ความสำคัญ เช่น การป้องกันประเทศและความมั่นคง


กรรมาธิการด้านภูมิอากาศของ EU ยืนยันว่าตัวเลข 90% ยังคงเป็น “จุดเริ่มต้น” ในการเจรจา แม้เขาจะรับรู้ถึงเสียงเรียกร้องที่ต้องการให้มีความ “ยืดหยุ่นและเป็นจริง” มากขึ้นในบริบทปัจจุบัน โดยยังไม่ยืนยันว่าเขากำลังพิจารณาทางเลือกใดบ้างอย่างเป็นทางการ


แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการเจรจาเปิดเผยกับสื่อต่างประเทศว่า คณะกรรมาธิการกำลังประเมินทางเลือกที่รวมถึงการลดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนภายในภูมิภาคให้ต่ำกว่า 90% และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดการปล่อยก๊าซในต่างประเทศ เช่น โครงการฟื้นฟูป่าไม้ในบราซิล มาใช้หักลบในการคำนวณตามเป้าหมายโดยรวมของ EU


หากดำเนินการจริง นี่จะถือเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างชัดเจนจากจุดยืนเดิมของ EU ที่กำหนดให้ทุกเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศต้องบรรลุผ่านความพยายามภายในภูมิภาคเท่านั้น โดยไม่ได้พึ่งพากลไกหรือเครดิตจากต่างประเทศ


แม้ข้อเสนอใหม่นี้อาจช่วยคลายแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญความยากลำบากจากมาตรการสีเขียว ภาษีจากสหรัฐฯ และการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูก แต่ก็มีเสียงเตือนเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอนเครดิตโลก ซึ่งในอดีตเคยเผชิญกรณีอื้อฉาวหลายครั้ง


ลินดา คาลเคอร์ (Linda Kalcher) ผู้อำนวยการองค์กร Strategic Perspectives เตือนว่าควรดำเนินการอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีกรณีทุจริตและโครงการจำนวนมากที่เคยอ้างว่าให้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมแต่กลับไม่สามารถพิสูจน์ผลลัพธ์ที่แท้จริงได้ อีกทั้งการที่ EU เคยประสบปัญหาราคาคาร์บอนในตลาดภายในตกฮวบจากการหลั่งไหลเข้ามาของเครดิตราคาถูก ก็เป็นบทเรียนที่ควรพึงระวัง


ย้อนกลับไปในปี 2013 EU เคยสั่งห้ามการใช้คาร์บอนเครดิตจากต่างประเทศในตลาด ETS (Emission Trading System) ของตัวเอง เนื่องจากความล้มเหลวในการควบคุมคุณภาพของเครดิตที่นำเข้า ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบราคาและความเชื่อมั่นในนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยรวม


ขณะเดียวกัน ความพยายามของนานาประเทศในการจัดตั้งตลาดคาร์บอนเครดิตภายใต้กรอบของสหประชาชาติ ยังคงเดินหน้าพร้อมเป้าหมายในการสร้างกลไกที่มีมาตรฐานชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อรับประกันว่าทุกเครดิตที่ซื้อขายสามารถสะท้อนผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง


อย่างไรก็ตาม มีบางเสียงเห็นว่าการเปิดช่องให้ใช้เครดิตจากต่างประเทศอาจช่วยเสริมบทบาทของ EU ในเวทีเจรจาสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเจ้าของโครงการลดคาร์บอนจำนวนมาก และต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศ


อันเดร มาร์คู (Andrei Marcu) ผู้อำนวยการองค์กร ERCST กล่าวว่า “ในมุมมองของผม ประเทศที่อยู่ในฝั่งตรงข้ามโต๊ะเจรจาน่าจะยินดี เพราะพวกเขาจำเป็นต้องได้รับเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน”



ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ


วันที่ :  8 เมษายน 2568
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com