เมื่อวันพุธที่ 2 เม.ย.68 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก รวมถึงไทยที่ถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 37% จากภาษีขั้นต่ำที่สหรัฐประกาศ 10% กับผู้ส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังสหรัฐรวม 60 ประเทศ และเขตแดนทั่วโลกที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นอัตราที่สูงเกินคาดหมาย โดยสหรัฐคำนวณจากอัตราภาษีที่คู่ค้าเก็บกับสหรัฐ และสหรัฐเก็บจากคู่ค้า รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยคำนวณได้ 72% และหาร 2 เท่ากับ 36%
"ไทยมีคณะทำงานที่เตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐไว้แล้ว และจะเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐลดภาษีลงได้ การขึ้นภาษีครั้งนี้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่เราจะเจรจาให้สหรัฐลดภาษีให้ และมีความหวังว่าจะสำเร็จ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถือว่าเกินความคาดหมาย สำหรับไทย ที่ประธานาธิบดีถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ 36% แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37% แต่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.68 นี้
ทั้งนี้ ยังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ โดยไทยพร้อมเจรจาทุกเมื่อรอให้สหรัฐนัดมา ซึ่งมีทีมไทยแลนด์ที่เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอชิงตัน ดี.ซี.เป็นหัวหน้าคณะ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาจเดินทางไปเป็นหัวหน้าคณะเจรจา
สำหรับสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่าสูง โดย 15 สินค้าแรกที่ส่งออกไปสหรัฐ ได้แก่
1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คาดว่า ถ้าสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11% จะทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐได้รับผลกระทบ 7,000-8,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 1 ปีถ้าไทยไม่ทำอะไรเลย
แต่ขณะนี้สูงถึง 37% ก็ประมาณ 25,000-26,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 880,000 ล้านบาท แต่ถ้าเจรจาต่อรองเป็นผลสำเร็จอาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม ที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่นั้น ต้องคำนวณอีกครั้ง
ส่วนแนวทางการเจรจาต่อรองนั้น 1.ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการให้กับสหรัฐ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐ 2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐ 3.ลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐ
มั่นใจว่าจะเจรจาต่อรองได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการ ที่สหรัฐได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน ความมั่นคง การทหาร การเป็นพันธมิตรที่ดี หรือแม้แต่ความมั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยได้คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และผลกระทบที่จะเกิดกับทุกฝ่ายน้อยที่สุดแล้ว
เตรียมมาตรการเยียวยาส่งออกไทย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ โดยช่วงบ่ายวันนี้ จะหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น อาจจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีการส่งออกไปสหรัฐ
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจมีสินค้าจากหลายประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ และส่งออกมาทุ่มตลาดไทย และอาเซียนนั้น กระทรวงพาณิชย์ มีคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาด และการอุดหนุน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ทำงานล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น มีการนำเข้าสินค้าทางออนไลน์ลดลง มีตัวเลขการปราบปรามสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มูลค่าความเสียหายของสินค้าไร้มาตรฐานที่จับกุมได้มากขึ้น
อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ ยังมีมาตรการที่จะใช้ดำเนินการกับสินค้านำเข้า ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) มาตรการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) รวมถึงได้ขึ้นบัญชีสินค้าเสี่ยงที่จะสวมสิทธิประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐ 49 รายการไว้แล้ว
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ 5 รายการ คือ เครื่องโทรศัพท์ รวมถึงสมาร์ตโฟน, เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์, ยางรถยนต์, เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้นั้น
ชง 3 ข้อเสนอหวังคลี่คลายสถานการณ์
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเทศไทย 36 % สูงเกินคาดหมาย
สรท.ตั้งเป้าการส่งออกทั้งปีขยายตัว 1-3% โดยอาจจะปรับเป้าหมายการส่งออกอีกครั้งในไตรมาส 2 โดยขอหารือกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นรายสินค้าแต่ละตัว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอ 3 เร่งที่สำคัญ คือ 1.เร่งเจรจาสหรัฐ โดยส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐ เพื่อลดการเกินดุลการค้า และใช้แนวทาง ASEAN+ เจรจา เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง
2.เร่งเจรจา และใช้ประโยชน์ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น ซึ่งภาครัฐ โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน
3.เร่งปฏิรูปการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยสนับสนุนการลงทุน ใช้วัตถุดิบ และทรัพยากรในประเทศไทยเป็นส่วนประกอบหลัก การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมต้นน้ำ และซัพพลายเออร์ภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีการยกระดับ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า จากการหลบเลี่ยงมาตรการสหรัฐเข้ามาทุ่มตลาดไทย
มือถือ-โทรสาร-แอร์-รถยนต์ หนักสุด
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า การขึ้นภาษีกระทบต่อสินค้าอุตสาหกรรมไปสหรัฐค่อนข้างมาก ทั้งเครื่องโทรศัพท์ โทรสาร เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ขณะที่สินค้าเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งสินค้าแต่ละตัวก็ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน โดยมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า เมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ส่งออกไปได้ลดลง
โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบชัดเจนเนื่องจากประเทศคู่แข่งเสียภาษีน้อยกว่า ได้แก่ สับปะรด ซึ่งฟิลิปปินส์โดนขึ้นภาษีน้อยกว่าไทย ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยมาเลเซียถูกปรับขึ้นภาษีน้อยกว่าไทยเช่นกัน ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันการเข้ามาทำตลาดของประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนถูกกว่า
ผู้บริโภคในสหรัฐซื้อข้าวเวียดนามแทน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หลังจากทราบผลประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐ 37% ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก จะทำให้ในส่วนของการส่งออกข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทยที่มีสัดส่วนในตลาดสหรัฐปี 2567 สูงกว่า 850,000 ตัน จากปกติเฉลี่ยตันละ 900-1,000 ดอลลาร์
ทั้งนี้ เมื่อถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มจะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐขึ้นเป็น 1,400 ดอลลาร์ทันที สูงมากเมื่อเทียบกับข้าวหอมเวียดนามที่มีการนำเข้าเฉลี่ยต่อปี 40,000 ตันเท่านั้น แม้เวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าไทยอยู่ที่ 46% แต่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 600-700 ดอลลาร์เท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อข้าวหอมเวียดนามแทนได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |