TLA LATEX
   
 
วันที่ 04/04/2568
66.00 บาท/กก.
 
วันที่ 03/04/2568
1,550.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   กยท.มั่นใจศักยภาพ ส่งผลราคายางไทยปี 68 ขาขึ้นต่อเนื่อง new

นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ราคายาง ล่าสุดว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (The Association of Natural Rubber Producing Countries: ANRPC) คาดการณ์ว่าการผลิตยางธรรมชาติทั่วโลกปี 2568 จะเพิ่มขึ้น 0.3%  หรือเป็นประมาณ 14.9 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยางธรรมชาติคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.8%  เป็น 15.6 ล้านตัน 


ทั้งนี้เนื่องจาก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประสบปัญหาผลผลิตยางพาราลดลง เป็นผลมาจากเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งให้ผลกำไรมากกว่า  ANRPC คาดว่าผลผลิตยางพาราของอินโดนีเซียในปี 2568 จะลดลง 9.8% จากปีก่อนหน้า เหลือ 2.04 ล้านตัน เช่นเดียวกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ผลผลิตจะลดลง 1.3% เหลือ 1.28 ล้านตัน 


อย่างไรก็ตาม ผลผลิตโดยรวมทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ยาง เนื่องจากการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศจีนและอินเดีย  ANRPC คาดว่าในปีนี้ ความต้องการยางธรรมชาติจากทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว จะเพิ่มขึ้น 2.5% และ 3.4% ตามลำดับ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของความต้องการจาก 2 ประเทศนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดโลก เพราะจะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น และส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น 


ประธานบอร์ด กยท.ระบุว่า  สถานการณ์ราคายางในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับปี 2567 ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (FOB กรุงเทพฯ) ในปี 2567 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 83.87 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ คาดว่าราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (FOB กรุงเทพฯ) จะมีราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น


"ตั้งแต่ผมเข้ามาบริหาร เป็นประธานบอร์ด กยท.ราคายางจนถึงปัจจุบัน มีสเถียรภาพมากขึ้น มีการปรับตัวขึ้นบ้างลงบ้าง เป็นไปตามกลไกการตลาด  แต่ราคายางไม่เคยต่ำกว่าราคาก่อนที่ผมจะเข้ามาบริหาร  คือราคาก้อนถ้วย ไม่เคยต่ำกว่า 18 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่เคยต่ำกว่า 49 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ยางมากขึ้น"


"โดย กยท.จะบริหารจัดการยางในภาพรวม ใช้กลไกการตลาดในควบคุมราคายาง ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจ ในปี 2567 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตยางทั้งหมด 4.7 ล้านตัน สามารถสร้างมูลค่ายางจากราคาที่เพิ่มขึ้นจากเดิมได้กว่า 100,000 ล้านบาท  โดยที่ไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย" ประธานบอร์ด กยท.กล่าวและว่า


ก่อนหน้านี้ ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพให้ราคายาง จะต้องนำงบประมาณแผ่นดินมาดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการแทรกแซงราคายาง โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น


แต่นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนี้ จะไม่นำงบประมาณแผ่นดินมาใช้ จะใช้กลไกตลาดในการควบคุมราคา ดังนั้น หากเป็นไปตาม ANRPC คาดการณ์สถานการณ์ยาง ว่าปีนี้ความต้องการใช้ยางมากกว่าปริมาณการผลิตยางแล้ว หากเป็นไปตามกลไกทางการตลาด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ยางจะมีราคาลดลง


นายเพิก กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กยท.มีศักยภาพในการบริหารจัดการยางให้เป็นไปตามกลไกตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  อย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ได้มีการประกาศสงครามกับยางเถื่อน ปราบปรามอย่างจริงจังต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ยางเถื่อนลดลง สามารถควบคุมปริมาณยางในประเทศได้อย่างน่าพอใจ


รวมทั้งยังได้ดำเนินการยกระดับสร้างเครือข่ายตลาดประมูลท้องถิ่นของ กยท.กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการนำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital Platform “Thai Rubber Trade” (TRT)  มาใช้ในการประมูลซื้อขาย พร้อมนำเทคโนโลยี Block Chain  เข้ามาใช้รองรับการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา   


นอกจากนี้ กยท.ยังได้ดำเนินโครงการชะลอการขายยาง เพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตยางพาราที่เข้าสู่ตลาด ให้เหมาะสมกับการใช้ยาง ลดความผันผวนด้านราคา ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือ และเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในระหว่างรอการขายผลผลิต ให้สามารถขายผลผลิตยางของตัวเองในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอใจ ไม่จำเป็นต้องรีบจำหน่ายผลผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างยั่งยืน


"ถ้าใครมาปิดเบือนตลาด เช่น เอายางเถื่อนเข้ามาเพื่อทุบราคา หรือบริษัทบางบริษัทประกาศลดราคายางลงอย่างไม่มีเหตุผล กยท.จะเข้าไปตรวจสอบทันที จะมาเอาเปรียบเกษตรกรไม่ได้อีกแล้ว เราพร้อมรบกับทุกคนที่ทำไม่ถูกต้อง โดยใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง การขึ้นลงของราคายาง ถ้าเป็นไปตามกลไกการตลาดที่จริงก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะมาทุบราคา เราจะดำเนินโต้กลับทันที" ประธานบอร์ด กยท.ยืนยัน


นอกจากนี้ กยท.ยังใช้ราคาซื้อขายจริง (Spot Price) ในการอ้างอิงราคาซื้อขายยางมากขึ้น โดย กยท.ได้มีการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นราคาที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้


ส่วนการประกาศบังคับใช้กฎระเบียบ EU Deforestation-free Products Regulation(EUDR) ของสหภาพยุโรป(EU) ที่เลื่อนการบังคับจากปี 2567 มาเป็นปลายปีนี้นั้น ยังจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ราคายางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทย


เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของโลกที่ปฏิตามกฎระเบียบของ EUDR คือ สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้ และจะต้องเป็นยางที่มาจากสวนยางที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิ์การครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์


รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ส่วนอีกประเทศสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้คือ ไอวอรีโคสต์  ซึ่งเป็นประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก แต่ปริมาณก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด EU


ที่ผ่านมา กยท.ได้จัดทำ "โครงการReady for EUDR in Thailand : RAOT พร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล" ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการระบบยางอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการประเมิน และจัดหมวดหมู่อย่างละเอียดตามมาตรฐาน EUDR  


นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการออกโฉนดต้นยาง ให้เกษตรกรที่เป็นเจ้าของต้นยาง ซึ่งจะทำให้ต้นยางทั่วประเทศมีเอกสารสิทธิ์ที่หน่วยงานของรัฐรับรอง สามารถต่อยอดทำให้ยางของไทย ทั้ง 22 ล้านไร่ ปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ได้ 100%


เพราะโฉนดต้นยางทุกต้นสามารถสอบย้อนกลับได้ และยังเป็นหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ ยืนยันว่าเป็นสวนยางที่ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม  


ทั้งนี้การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นราคายางที่เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR จะมีราคาสูงกว่าอย่างทั่วไป  และเมื่อราคายางEUDR มีราคาสูงขึ้น ก็จะผลักดันให้ราคายางทั่วไปสูงตามขึ้นไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพี่น้องเกษตรกร   


การจัดทำสวนยางให้ผ่านกฎระเบียบ EUDR นั้นไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ระยะเวลา 1 ปีที่ EU เลื่อนการบังคับนั้น ประเทศผู้ส่งออกยางที่เป็นคู่แข่งของไทยยังไม่สามารถทำได้ยางของไทยจึงมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ส่วน EU จะเลื่อนการบังคับออกไปอีกหรือไม่ ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้  


ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลื่อนบังคับหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยก็จะดำเนินมาตรการตรวจสอบย้อนกลับอยู่แล้ว เพราะมาตรการนี้จะส่งผลดีต่อการบริการจัดการยางของไทย สามารถตรวจสอบได้ว่า ยางมาจากสวนไหน มีการจัดการสวนอย่างไร  ป้องกันการเอายางจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ 


อย่างไรก็ตาม นายเพิก ระบุว่า มีตลาด ที่ยังไม่ต้องการใบรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ แต่ในอนาคตแนวโน้มทุกประเทศจะนำกฎระเบียบเช่นเดียวกับ EUDR มาบังคับให้แน่นอน เพราะทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 


นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยาง เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง เป็นต้น หากจะต้องส่งไปขายในตลาด EU จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบตามกฎระเบียบ EUDR เช่นเดียวกัน  ดังนั้นประเทศคู่ค้าของไทยที่ซื้อยางไปแปรรูป จำเป็นจะต้องซื้อยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ถึงจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปขายใน EU ได้ ยิ่งจะทำให้ยางไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น 


สำหรับตลาดส่งออกยางหลักของไทยในปัจจุบันคือ ตลาดประเทศจีน มีมูลค่าประมาณปีละมากกว่า 50,000 ล้านบาท ส่วนตลาด EU มีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละกว่า 14,000 ล้านบาท จากการวิเคราะห์ของ ANRPC ผนวกกับการบริหารจัดการยางของ กยท. และการบังคับให้กฎระเบียบ EUDR น่าจะยืนยันได้ว่า ภาพรวมของสถานการณ์ยางในปี 2568 สดใสแน่นอน



ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ :  25 มีนาคม 2568
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com