TLA LATEX
   
 
วันที่ 04/04/2568
66.00 บาท/กก.
 
วันที่ 03/04/2568
1,550.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   ประกาศเกณฑ์ใหม่ กยท. วิธีจ่ายเงินจัดสวัสดิการเกษตรกรสวนยาง 2568 new

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กยท. หลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2568 ทั้งกรณีประสบภัย เสียชีวิต มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2%

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ออกระเบียบใหม่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49(5) พ.ศ. 2568 ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 โดยมีนายสาธิต ควรพิวิลาส รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนาม

 

ระเบียบฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนายางพาราในการจัดสวัสดิการให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางให้มีความทันสมัย ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ ระเบียบฉบับใหม่จะยกเลิกระเบียบเดิมทั้งหมด 5 ฉบับที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย


ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2560

ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563

ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565

ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566

ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567


โครงสร้างการบริหารจัดการและกลไกการพิจารณา 

ระเบียบฉบับใหม่ได้กำหนดให้ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตหรือผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัด มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณาคำขอรับเงินสวัสดิการ" เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคำขอรับเงินสวัสดิการตามระเบียบนี้

 


โดยแบ่งโครงสร้างตามลักษณะการบริหารงานของการยางแห่งประเทศไทยออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่


1.การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดที่มีสาขาเป็นจังหวัด

ในระดับจังหวัด: คณะกรรมการ 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัด (ประธาน), ผู้ช่วยผู้อำนวยการจังหวัด, หัวหน้ากองงานสนับสนุน, หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ, หัวหน้าแผนกการเงินและบัญชี, หัวหน้าแผนกบริหารกองทุนและสวัสดิการเกษตรกร (กรรมการและเลขานุการ)

ในระดับสาขา: คณะกรรมการ 5 ตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยสาขา (ประธาน), หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ, หัวหน้าแผนกการเงินและบัญชี, หัวหน้าแผนกธุรการและพัสดุ, พนักงานคนหนึ่งในสังกัดการยางแห่งประเทศไทยสาขานั้น (กรรมการและเลขานุการ)


2. การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดที่มีสาขาเป็นอำเภอ

คณะกรรมการ 5 ตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยสาขา (ประธาน), หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ, หัวหน้าแผนกการเงินและบัญชี, หัวหน้าแผนกธุรการและพัสดุ, พนักงานคนหนึ่งในสังกัดการยางแห่งประเทศไทยสาขานั้น (กรรมการและเลขานุการ)

 

3. การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดที่ไม่มีสาขา 

คณะกรรมการ 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วยผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัด (ประธาน), ผู้ช่วยผู้อำนวยการจังหวัด, หัวหน้ากองงานสนับสนุน, หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ, หัวหน้าแผนกการเงินและบัญชี, หัวหน้าแผนกบริหารกองทุนและสวัสดิการเกษตรกร (กรรมการและเลขานุการ)

 

ในกรณีที่โครงสร้างการบริหารงานไม่มีตำแหน่งหรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดข้างต้น ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการฯ พิจารณาแต่งตั้งพนักงานตำแหน่งอื่นทำหน้าที่ให้ครบตามองค์ประกอบ

 

การให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยพิบัติ 

ระเบียบได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางกรณีสวนยางประสบภัยพิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือตามความจำเป็นเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นในท้องที่ โดยมุ่งที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยในเบื้องต้น โดยมิได้มุ่งเพื่อจะชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด

 

คุณสมบัติของเกษตรกรชาวสวนยางผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือ มีดังนี้

เป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยในสถานะเจ้าของ ผู้เช่า หรือผู้ทำสวนยาง (ยกเว้นคนกรีดยาง) ที่สวนยางประสบภัย

เป็นสวนยางแปลงที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย

กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานะของเกษตรกรชาวสวนยาง ให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นผู้แจ้งให้พนักงานทราบพร้อมหลักฐาน เพื่อให้พนักงานเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง

เกษตรกรที่ประสบภัยสามารถยื่นคำขอรับเงินสวัสดิการต่อพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ หรือยื่นคำขอรับเงินสวัสดิการ ณ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดหรือสาขา ที่มีพื้นที่รับผิดชอบสวนยางที่ประสบภัยพิบัติแปลงนั้น ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ประสบภัย หรือวันที่เหตุภัยพิบัติสิ้นสุด หรือวันที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ แล้วแต่กรณี

 


การยื่นขอรับความช่วยเหลือให้ยื่นแบบคำขอรับเงินสวัสดิการเป็นหนังสือ ซึ่งจะต้องมีรายการดังต่อไปนี้ 


ชื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบภัยพิบัติ

ประเภทของภัยพิบัติที่ประสบ

วัน เดือน ปี ที่เกิดภัยพิบัติ หรือวันสิ้นสุดภัยพิบัติ หรือวันที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ

สถานที่เกิดเหตุ (ให้ระบุที่ตั้งสวนยาง ถนน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด)

ความเสียหายโดยประมาณ เช่น จำนวนต้นยางที่ได้รับความเสียหายในแปลงเดียวกัน

ลงลายมือชื่อผู้แจ้ง

ผู้รับรองต้องเป็นกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเกษตรกรพื้นที่ข้างเคียง

เอกสารแสดงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับการยางแห่งประเทศไทย พร้อมตำพิกัดแปลงสวนยางที่ได้รับความเสียหาย

 

เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสวนยางประสบภัยที่ขอรับความช่วยเหลือและรับรองความถูกต้องแล้ว ให้เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามหมวด 2 พิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นเงินรายละไม่เกิน 3,000 บาท และรายงานผลการจ่ายเงินให้คณะกรรมการพิจารณาคำขอรับเงินสวัสดิการทราบ


 

การให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีเสียชีวิต

ระเบียบได้กำหนดการให้เงินช่วยเหลือแก่ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต ให้ช่วยเหลือเป็นเงินรายละเท่าใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การยางแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในแต่ละปี


 ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยาง ได้แก่

สามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สืบสันดาน

บิดามารดา

พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

ปู่ ย่า ตา ยาย

ลุง ป้า น้า อา

หลานที่สืบเชื้อสายเดียวกัน

 ทั้งนี้ "ผู้สืบสันดาน" หมายความว่า บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม

ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามระเบียบนี้ ให้ยื่นคำขอรับเงินสวัสดิการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต พร้อมแสดงเอกสารประกอบซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังนี้


สำเนาทะเบียนบ้านของเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิต

สำเนาใบมรณบัตร

หลักฐานแสดงการเป็นทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิต

หลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการงานศพของเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิต

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทเกษตรกรชาวสวนยางที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้จัดการงานศพ

ทายาทเกษตรกรชาวสวนยางสามารถยื่นคำขอรับเงินสวัสดิการ ณ การยางแห่งประเทศไทยทุกจังหวัดหรือสาขา


 เงินกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง 

ระเบียบฉบับนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้เงินกู้ยืมแก่เกษตรกรชาวสวนยางกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต โดยให้ช่วยเหลือเป็นเงินรายละเท่าใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การยางแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในแต่ละปี

ผู้มีอำนาจอนุมัติตามหมวด 2 เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนมีอำนาจ ดังนี้


ผ่อนผันการชำระหนี้

ขยายระยะเวลาของสัญญากู้ยืม

ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยทั้งหมดหรือบางส่วนรวมทั้งดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด

ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

การรับสภาพหนี้

การรับสภาพความรับผิด

บังคับชำระหนี้จากผู้กู้และผู้ค้ำประกัน

บอกเลิกสัญญาเงินกู้ กรณีผู้กู้แสดงข้อความหรือหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอกู้เงิน

ตัดสิทธิการได้รับเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

พิจารณาคำอุทธรณ์

ทำนิติกรรมใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับระเบียบนี้

 เงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีได้รับความเดือดร้อน ดังต่อไปนี้

ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย ธรณีพิบัติภัย ภัยแล้ง โรคหรือศัตรูพืชทุกชนิด เป็นต้น

เพื่อการรักษาพยาบาลของตนเอง

เพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ

เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพเสริม

กรณีอื่นตามที่ผู้ว่าการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย

 วงเงินให้กู้สูงสุดในแต่ละวัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามที่ผู้ว่าการเห็นสมควรโดยคำนึงถึงยอดเงินคงเหลือและจำนวนเงินสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับจัดสรร


 การพิจารณาให้กู้ยืม ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาตามลำดับความจำเป็นก่อนหลังของคำขอกู้ได้ 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิกู้เงินทุนกู้ยืม 

เกษตรกรชาวสวนยางผู้มีสิทธิกู้เงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต้องมีคุณสมบัติดังนี้

เป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับการยางแห่งประเทศไทย

บรรลุนิติภาวะ

ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพและประพฤติตนเรียบร้อย

ยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข และข้อกำหนดในหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนด

มีวินัยทางการเงินและไม่มีหนี้ค้างชำระที่ผิดระยะเวลาสถาบันการเงินหรือการยางแห่งประเทศไทย

 

กรณีเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับการผ่อนผัน การขยายเวลาชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การไกล่เกลี่ยคดี การประนอมหนี้ และเกษตรกรชาวสวนยางสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ถือว่ามีคุณสมบัติที่จะมีสิทธิกู้เงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในคราวต่อไปได้

 

กรณีผู้กู้ที่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ต้องจัดทำบันทึกยินยอมให้หักเงินจากสวนปลูกแทนทุกราย

การค้ำประกันเงินกู้


 การค้ำประกันเงินกู้กำหนดให้ต้องมีผู้ค้ำประกันไม่น้อยกว่า 2 คน ต่อสัญญา และเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง โดยผู้ค้ำประกันแต่ละรายสามารถค้ำประกันได้ไม่เกิน 2 สัญญา และในกรณีผู้กู้เป็นคนกรีดยางต้องให้เจ้าของสวนยางซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้กรีดยางในขณะนั้นเป็นผู้ค้ำประกันด้วย

 

ระยะเวลาการชำระหนี้และดอกเบี้ย 

ผู้กู้ต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามวัตถุประสงค์แห่งการกู้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญาเงินกู้ โดยให้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี 


ในกรณีลดหรือยกการคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ยื่นคำขอเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่การยางแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป

 

ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยที่มีอาจหลีกเลี่ยงหรือคาดหมายได้ ภัยธรรมชาติ สาธารณภัย ภัยพิบัติ ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หรือเหตุจำเป็นอื่นตามที่การยางแห่งประเทศไทยเห็นสมควร ซึ่งทำให้ผู้กู้ไม่สามารถส่งคืนเงินกู้ยืมภายในกำหนดระยะเวลาหรือตามงวดเวลาที่กำหนดในสัญญาเงินกู้ยืม


 ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยผ่อนผันการชำระหนี้ หรือขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ยืมในแต่ละงวดเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ยืมออกไป หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งพิจารณาลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยทั้งหมดหรือบางส่วนรวมทั้งดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามที่เห็นสมควร

 

การผ่อนผันการชำระหนี้ในแต่ละงวดเวลา เป็นการผ่อนผันเฉพาะงวดตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 60 วันนับแต่วันครบกำหนดชำระในงวดนั้นแต่ไม่เกินงวดถัดไป โดยผู้มีอำนาจอนุมัติเป็นผู้พิจารณาการผ่อนผันการชำระหนี้ต่อไป


 การขยายระยะเวลาของสัญญาเงินกู้ยืมเป็นการพิจารณาปรับเปลี่ยนกำหนดการชำระหนี้ในแต่ละงวด พร้อมทั้งขยายวันสิ้นสุดสัญญาออกไปตามความจำเป็น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาและกำหนดให้ดำเนินการได้ 1 ครั้งต่อสัญญา โดยผู้มีอำนาจอนุมัติเป็นผู้พิจารณาการขยายระยะเวลาการชำระหนี้


 การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการยกยอดเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระที่เกิดขึ้นจากสัญญาเดิมทั้งหมดมาทำสัญญาใหม่ ซึ่งกำหนดการผ่อนชำระให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเงินกู้ และกำหนดให้ดำเนินการได้ 1 ครั้งต่อสัญญา โดยผู้มีอำนาจอนุมัติเป็นผู้พิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้


 ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา หรือผิดนัดชำระตามกำหนดการผ่อนผัน หรือผิดนัดชำระตามกำหนดการขยายเวลา หรือผิดนัดชำระตามกำหนดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดและให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี จากยอดเงินต้นงวดที่ผิดนัดชำระและบังคับชำระหนี้จากผู้กู้และผู้ค้ำประกัน


 ในกรณีมีการบังคับชำระหนี้หลังจากส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังผู้กู้และผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และไม่เป็นผลสำเร็จ ให้พนักงานผู้รับผิดชอบรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บันทึกความเห็นและนำส่งการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


 การดำเนินการกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระ 

เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ไม่ยินยอมดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้น และไม่สามารถติดตามหนี้จากผู้ค้ำประกันได้ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยดำเนินการต่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันตามขั้นตอน ดังนี้

ก่อนครบกำหนดชำระหนี้ 30 วัน: ให้จัดทำหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระหนี้ไปยังผู้กู้

หากผู้กู้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดชำระหนี้: ให้จัดทำหนังสือบอกกล่าวทวงถาม จำนวน 1 ครั้ง ไปยังผู้กู้และผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัดการชำระหนี้

หากผู้กู้ไม่ชำระหนี้ตามการบอกกล่าวทวงถาม: ให้เรียกผู้กู้และผู้ค้ำประกันมาไกล่เกลี่ยและเสนอแผนการชำระหนี้ เพื่อทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

หากผู้กู้ที่ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วยังผิดนัดชำระ: ให้ดำเนินการจัดทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือหนังสือรับสภาพความรับผิด แล้วแต่กรณี

ในกรณีผู้กู้ไม่ชำระเงินกู้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งมอบหมายพนักงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามหนี้ค้างชำระโดยเร่งด่วนและรายงานให้ผู้มีอำนาจอนุมัติทราบความก้าวหน้า อย่างน้อยทุก 1 เดือน

 

เงินกู้ยืมเพื่อทำยาทของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต

การให้เงินกู้แก่ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางกรณีเกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีได้รับความเดือดร้อน ดังต่อไปนี้

 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงานศพ

เพื่อการประกอบอาชีพของทายาท

เพื่อช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของครอบครัวในเบื้องต้น

 

ทายาทของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือสามารถยื่นคำขอรับเงินกู้ยืมต่อพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ภายในกำหนดไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่เกษตรกรชาวสวนยางเสียชีวิต


 เมื่อพนักงานตรวจสอบคุณสมบัติของทายาทเกษตรกรชาวสวนยางหรือผู้กู้ และรายการเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาคำขอรับเงินสวัสดิการเพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติ

เงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง

ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติสามารถบอกเลิกสัญญาเงินกู้ได้ หากผู้กู้แสดงข้อความหรือหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอกู้เงินและให้เรียกเก็บเงินกู้ยืมทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมาย พร้อมทั้งตัดสิทธิการได้รับเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน


 ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติมอบหมายพนักงานเพื่อพิจารณาและตรวจสอบสัญญาเงินกู้ยืมทุกรายในความรับผิดชอบ เพื่อติดตามหรือบังคับชำระหนี้จากผู้กู้และผู้ค้ำประกัน อีกทั้งป้องกันการขาดอายุความ โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด

 

เงินเพื่อดำเนินการจัดสวัสดิการอื่น ๆ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง 

ระเบียบนี้ได้กำหนดให้การจัดสวัสดิการอื่น ๆ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยางให้ดำเนินการได้ตามที่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยกำหนด อันเป็นการเปิดช่องทางให้สามารถจัดสวัสดิการในรูปแบบอื่น ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อสถานการณ์ได้ในอนาคต


ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ

ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการตามระเบียบนี้ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานอันประกอบด้วยค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของผู้ปฏิบัติงาน

 

การอุทธรณ์ 

เมื่อผู้มีอำนาจอนุมัติมีคำสั่งไม่อนุมัติคำขอรับเงินสวัสดิการตามระเบียบนี้ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจอนุมัติที่ออกคำสั่งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือหนังสือแล้วแต่กรณี ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติพิจารณาคำอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าแต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่ได้รับคำอุทธรณ์

 ในกรณีไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ให้ส่งความเห็นพร้อมเหตุผลภายในกำหนดเวลาไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้มีอำนาจอนุมัติสูงขึ้นหนึ่งระดับ ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้มีอำนาจอนุมัติดังกล่าวพิจารณาคำอุทธรณ์และพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 30 วันนับแต่ได้รับเรื่องอุทธรณ์และให้ผลการพิจารณาดังกล่าวถือเป็นที่สุด


 บทเฉพาะกาล

 บรรดาประกาศ หลักเกณฑ์ คำสั่ง หรือการดำเนินการอื่นใดที่ออกตามระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีประกาศ หลักเกณฑ์ หรือคำสั่งตามระเบียบนี้ใช้บังคับ



ที่มา - ระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา ๔๙ (๕) พ.ศ. ๒๕๖๘ 

วันที่ :  22 มีนาคม 2568
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com