รมว.นฤมลนำ กระทรวงเกษตรฯ พบชาวสวนยาง จ.บึงกาฬ เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วง พร้อมประกาศ Kick off โครงการโฉนดต้นยาง1 เม.ย.นี้ ตั้งเป้าแจกครบ 11.17 ล้านไร่ภายใน 1 ปี เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ เพื่อร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมหลักสูตร การส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum saimense(ใบร่วงชนิดใหม่)
โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า จ.บึงกาฬ มีรายได้กว่า 60% มาจากยางพารา ราคายางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กรมการยางก็จะทำงานอย่างเข้มแข็งต่อไป รวมถึงทีมพญานาคราช ก็จะออกปราบปรามยางเถื่อนต่อเนื่อง เราจะไม่ยอมให้ยางพาราจากประเทศอื่นมาเป็นปัจจัยทำให้ราคายางพาราในประเทศไทยตกต่ำลง ทั้งนี้ หากประชาชาพบการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน ขอให้แจ้งทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯและเราจะกวาดล้างทันที
กระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้ราคาพืชผลทางเกษตรชนิดอื่น ๆ มีการปรับขึ้นราคาขึ้นเช่นเดียวกับ ยางพารา ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม แต่ที่เราทำให้ราคายางพาราขึ้นสำเร็จก่อน เนื่องจากยางพาราอยู่ในการดูแลกำกับของกระทรวงเกษตรฯ เพราะเรามีการยางแห่งประเทศไทยอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ จึงทำให้หน่วยงานอื่น ๆ ของเราสามารถบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว และเบ็ดเสร็จ แต่สำหรับราคาข้าว ถึงเราจะมีกรมการข้าว แต่การกำหนดนโยบายตลาด และราคา เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้กำกับดูแล เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ก็มีคณะกรรมการนโยบายมัน อยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนปาล์มน้ำมันก็เป็นของกระทรวงพลังงาน อ้อยก็ไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งใจจริงเราอยากจะดึงทุกอย่างมาดูแลแบบเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ในส่วนของยางพารา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้เดินหน้าขับเคลื่อนปฎิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้เขารู้ว่า เราไม่ได้ไปบุกรุกป่า ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 11.17 ล้านไร่ เหลืออีก 4 ล้านไร่ ที่ยังไปเป็นที่ดินทับซ้อน โดยเราได้มีการพูดคุยกัน และจะมีการจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับชาวสวนยางพารา เพื่อให้เขามีเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง สามารถครอบครองพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 11.17 ล้านไร่อยู่แล้ว เราจะออกโฉนดต้นยางสร้างมูลค่าให้กับต้นยางพาราที่ปลูกอยู่บนที่ดินของตนเอง ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.และนำไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยจะ Kick off เปิดโครงการในวันที่ 1 เม.ย.นี้
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |