(15 ก.พ. 68) ณ โรงเรียนเซกา อ. เซกา จ. บึงกาฬ กยท. เดินหน้าถ่ายทอดความรู้ ส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum Siamense (ใบร่วงชนิดใหม่) ประจำปี 2568 โดยมี ศ.ดร.นฤมล รมว.เกษตรฯ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กษ. และคณะผู้บริหาร กยท. นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. ร่วมมอบน้ำหมัก 1,000 ลิตร แก่เกษตรกรในพื้นที่ หวัง สร้างการรับรู้-เตือนภัย ลดผลกระทบจากโรคฯ พร้อมมอบเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร-สหกรณ์ รวมกว่า 1 ลบ.
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการรายงานการแพร่ระบาดของโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletatrichum siamense หรือโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และ กยท. ร่วมกันดูแลแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่การขนส่งเคลื่อนย้ายและการเคลื่อนไหวของทิศทางลมตามธรรมชาติ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ควบคุมเชื้อดังกล่าวได้ยาก และจากการรายงานล่าสุด พบว่า มีการแพร่ระบาดมาสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบการเกิดโรคในพื้นที่สวนยางพารา 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ เลย และนครพนม รวมพื้นที่ 3,685.5 ไร่ ส่งผลให้เจ้าของสวนยางได้รับผลกระทบถึง 259 ราย นำมาสู่การอบรมการส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum siamense (ใบร่วงชนิดใหม่) ประจำปี 2568 ที่ กยท. มุ่งมั่นตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬกว่า 1,000 คนในวันนี้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมีความรู้ และมีเครื่องมือในการป้องกันโรค ขอให้ทุกคนร่วมมือกันป้องกันและกำจัดโรคใบร่วงฯ ไม่ให้ระบาดเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผลผลิตยางเป็นไปตามเป้าหมายที่พี่น้องชาวสวนยางตั้งไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยางและการทำเกษตรชนิดอื่นต่อไปในอนาคต
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยได้ดำเนินการส่งเสริมและยกระดับยางพาราไทย ตามระเบียบปฏิบัติของ EUDR เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานของเกษตรกรไทย ควบคู่ไปกับการปราบปรามยางพาราเถื่อน เพื่อป้องกันการแทรกแซงราคายางในประเทศ และในอนาคตจะมีการขยายผลการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำเพิ่มเติม อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตามมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านมา พบว่า สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวสวนยาง รวมกว่า 1 แสนล้านบาท และจะมีการต่อยอดการเพิ่มรายได้เกษตรกร ในรูปแบบการขายคาร์บอนเครดิต เพื่อขยายโอกาสการเพิ่มรายได้เกษตรกรสวนยาง และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรตามนโยบายกระทรวงเกษตร ฯ
ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการป้องกันกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยาง ในการป้องกันกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum siamense ทั้งการเฝ้าระวัง การยับยั้ง ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่โรคระบาดรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้พบการระบาดเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ และขณะนี้เริ่มมีการแพร่กระจายมายังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบการแพร่ระบาดในจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 581 ไร่ ซึ่ง กยท. เล็งเห็นว่าควรเร่งป้องกันกำจัดและควบคุมให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้การป้องกันกำจัดโรคใบร่วง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น กยท. จึงเดินหน้าบริหารจัดการโรคฯ แบบผสมผสานและครบวงจร โดยเน้นการขยายผลการบริหารจัดการสู่การปฏิบัติในสวนยาง ผ่านการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาในวันนี้ โดย กยท. ส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำซึ่งมีความเข้มข้นของธาตุอาหารสูงมาช่วยฟื้นฟูสวนยางพาราที่ประสบปัญหาโรคใบร่วง ซึ่งสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน สร้างความแข็งแรงให้กับต้นยางพารา โดย กยท. ได้มอบน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ จำนวน 1,000 ลิตร ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ กยท. ยังมอบเงินอุดหนุนตามมาตรา 49(3) แก่เกษตรกรในโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และหอสูงพร้อมถังเก็บน้ำ 2,000 ลิตร จำนวน 6 ราย รายละ 97,000 บาท เงินอุดหนุนตามมาตรา 49(3) โครงการก่อสร้างโกดังรวบรวมผลผลิตยางพารา แก่สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองเดิ่นยางพารา จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางบุ่งคล้า-กูวัว จำกัด จำนวนแห่งละ 291,000 บาท และ โครงการจัดซื้อสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ แก่สหกรณ์กองทุนสวนยางห้วยก้านเหลือง จำกัด จำนวน 350,000 บาท
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |