(2 มี.ค. 2568) ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางนครตาลเดี่ยว จำกัด อ.เซกา จ.บึงกาฬ - การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดประชุมชี้แจงโครงการชะลอการขายยาง โดยมี นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย นายธรรม นิลสุวรรณ ผู้อำนวยการ กยท. เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และคณะผู้บริหาร กยท. พบปะเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ส่งต่อข้อมูลและสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินโครงการฯ นโยบายบริหารจัดการยางของภาครัฐ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง กำหนดราคา ตลอดจนรับฟังเสียงชาวสวนยางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วน
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนโครงการชะลอขายยางมาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของเกษตรกร สถาบันเกษตรชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็ง ดังนั้น จึงได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการ กยท. (ดร.เพิก เลิศวังพง) ซึ่งมีนโยบายให้ กยท. สนับสนุนสหกรณ์กองทุนสวนยางตาลเดี่ยว จำกัด เป็นจุดรวบรวมยาง เพื่อดูแลผลผลิตยางพาราของชาวจังหวัดบึงกาฬ โดยเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรรายย่อยสามารถรวบรวมผลผลิตที่จะเข้าโครงการชะลอการขายยางมาไว้ที่นี่ ซึ่งในปี 2568 กยท. โดยฝ่ายเศรษฐกิจยางได้จัดสรรงบประมาณ กว่า 3,000 ล้านบาท เข้ามาบริหารจัดการโครงการชะลอการขายยาง เพื่อใช้เป็นทุนในการเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกรฯ โดยจะสนับสนุนงบประมาณ 80% เพื่อใช้ในการรวบรวมผลผลิต และรอขาย ทำให้ไม่จำเป็นต้องรีบขายยาง หากราคาไม่เป็นที่พอใจ ทั้งนี้ หากสถาบันฯ ไม่มีอาคาร สถานที่ หรืออุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อขายยาง เช่น ตาชั่ง รถตักยาง ก็สามารถของบอุดหนุนมาตรา 49 (3) จาก กยท. เพื่อนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ หรือทำลานรวบรวมได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันกระแสยางพาราของโลก ให้ความสำคัญกับพื้นที่ปลูกที่ไม่บุกรุกป่า ไม่ใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ตามกฏ EUDR ซึ่ง กยท. ได้ดำเนินการวางระบบไว้แล้ว โดยเป็นระบบที่โลกยอมรับและรับรอง จึงอยากฝากให้พี่น้องส่วนราชการจับมือกัน เพื่อวางเพลตฟอร์มรูปแบบการซื้อขาย ซึ่งถ้าทำได้จะเพิ่มมูลค่าให้ยางพารากลายเป็นสินค้าพรีเมี่ยม สร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้นจึงเป็นโอกาสของชาวสวนยางบึงกาฬ ที่มีผลผลิตยางซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน EUDR ที่โลกยอมรับและรับรอง
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกิจกรรมประชุมชี้แจงโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯ เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ อ.พรเจริญ และ อ.เซกา จ.บึงกาฬ ได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการชะลอการขายยาง ทั้งมาตรการและแนวทางการดำเนินงานต่างๆของภาครัฐ ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เนื่องจากการชะลอการขายยาง เป็นหนึ่งมาตรการที่ช่วยควบคุมปริมาณผลผลิตยางพาราที่เข้าสู่ตลาดให้เหมาะสมกับการใช้ยาง เพื่อลดความผันผวนด้านราคา ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ เป็นการช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในระหว่างรอการขายผลผลิต ให้สามารถขายผลผลิตยางของตัวเองในช่วงที่ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอใจ โดยไม่จำเป็นต้องรีบจำหน่ายผลผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |