TLA LATEX
   
 
วันที่ 22-24/02/2568
68.20 บาท/กก.
 
วันที่ 21/02/2568
1,590.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   ดัน "ระยอง" 2 ล้านไร่ ต้นแบบโมเดล "เมืองยางคาร์บอนต่ำ" หนุนเศรษฐกิจ BCG new

ดร.อุทัย  สอนหลักทรัพย์  นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังการประชุมวันนี้  (19 ก.พ. 68) ว่าจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ฤดูกาลต่า งๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป จากข่าวสารที่เกิดขึ้นในทั่วโลก เช่น ภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น การที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและมหันตภัยปัญหาหมอควันและไฟป่า ฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งการเกิดโรคอุบัติใหม่ ๆ ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่สวนยางพาราถือได้ว่าเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญมากในบรรดาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย


โดยในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ทำให้มีความต้องการอาหารที่สูงขึ้น มีการบุกรุกพื้นที่ป่าใช้พื้นที่ทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพต่าง ๆ อย่างไรขีดจำกัดมิอาจควบคุมได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและเตรียมการในระยะยาวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้หลายประเทศทั่วโลกร่วมมือกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น


เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality 2030 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (COP26) และล่าสุดได้มีการประชุมรัฐภาคีผู้นำประเทศถึงกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (UNFCCC COP29 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา)


"ยางพารา" เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในตลาดการส่งออก โดยเฉพาะในด้านการสร้างความมั่นคงในอาชีพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ในปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 24,229,386 ไร่ และมีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 1,667,095 ราย โดยในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางรวม 2,421,024 ไร่ และเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 110,483 ราย ในปี 2567 รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรที่ปลูกยางพาราอยู่ที่ 14,703 บาท/ไร่


ขณะที่ต้นทุนการผลิตยางเฉลี่ยอยู่ที่ 13,679 บาท/ไร่ต่อปี และการผลิตยางมีผลผลิตเฉลี่ย 213 กิโลกรัม/ไร่ต่อปี จากการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตจะพบว่า ต้นทุนผันแปร ได้แก่ วัสดุปุ๋ย วัสดุยาปราบศัตรูพืช และค่าจ้างแรงงานในการกรีดยางเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อต้นทุนรวม ดังนั้น หากต้องการลดต้นทุนการผลิตจะต้องมุ่งเน้นในการลดต้นทุนผันแปรด้านแรงงาน ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช เพื่อเพิ่มส่วนต่างกำไรให้เกษตรกรมากที่สุด


นปี 2567 คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตยางธรรมชาติจะลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคใบร่วงในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคายางธรรมชาติเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศในรูปแบบวัตถุดิบ นอกจากนี้ ความต้องการใช้ยางในตลาดต่างประเทศคาดว่าจะทรงตัวหรือหดตัวบางรายการ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศคู่ค้าสำคัญ  หากพิจารณาสถานการณ์ราคายางพาราในปีล่าสุด ปีหลังสุดจะพบว่าภาพรวมราคายางธรรมชาติเฉลี่ยรายเดือนของไทยเดือนกรกฎาคม2567 ราคายางฯ เพิ่มขึ้นทุกรายการเมื่อเปรียบเทียบ กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว


จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของ “โครงการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ก้าวสู่การพัฒนาสวนยาง Low Carbon  ในพื้นที่นำร่อง : การยางพาราแห่งประเทศไทย เขตภาคกลาง-ตะวันออก”  ซึ่งมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับโครงสร้าง โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตยางให้กับเกษตรกร รวมถึงการสร้างสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดินในแต่ละพื้นที่ ผ่านการวิเคราะห์ดิน และสนับสนุนการผลิตสินค้าส่งออกยางในรูปแบบ Low carbon เพื่อร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมลดภาวะโลกร้อน อันจะเป็นการสร้าง Brand ให้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยในการส่งออกยางเกิดความยั่งยืนในผลิตภัณฑ์ และอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยไปยังต่างประเทศทั่วโลก


สอดคล้องกับนโยบายของการยางพาราแห่งประเทศไทย  มีเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และนโยบายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยปี 2567 ที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจสำหรับประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction, T-VER)  ในพื้นที่สวนยางของเกษตรกร ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสังคมในการกักเก็บและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อยางพาราไทยในการสร้างผลิตภัณฑ์ยาง Low Carbon ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในโลกช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก  ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางของเกษตรกรไทยในอนาคตต่อไป


ทั้งนี้สมาคมสหพันธุ์ชาวสวนายางแห่งประเทศไทยจะได้ผลักดัน  โครงการดังกล่าว มุ่งเน้นนำร่องในการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดินตามที่นักวิชาการแนะนำในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ก้าวสู่การพัฒนาสวนยาง Low Carbon  ในพื้นที่นำร่อง : โดยจะดำเนินการในพื้นที่เขตการยางพาราแห่งประเทศไทย เขตภาคกลาง-ตะวันออก” ใน 24 จังหวัด ซึ่งมีจังหวัดเป้าหมายที่มีสวนยางประกอบด้วย 6 จังหวัดการยางพาราแห่งประเทศไทย ได้แก่ จ.ระยอง, จ.จันทบุรี, จ.ตราด, จ.ฉะเชิงเทรา, จ.อุทัยธานี และจ.กาญจนบุรี  พื้นที่โดยรวมประมาณ 2 ล้านไร่ เพื่อให้เกิดต้นแบบนำร่องตามเป้าหมาย และจะได้ขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 32 ล้านไร่ ของการยางพาราแห่งประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกเขตสร้างความยั่งยืนให้ประเทศชาติทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ  สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อไป


ทั้งนี้โครงการฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์  เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตยางให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และเพื่อสร้างรายได้ที่ดีเกิดความยั่งยืนให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยการตรวจวิเคราะห์ดิน และสร้างสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตามนโยบายการทำผลิตภัณฑ์ส่งออกยาง Low carbon  ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม  และเพื่อสร้าง Model ต้นแบบการใช้ปุ๋ยเขตการยาง ภาคกลาง - ภาคตะวันออก รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งอบรมศึกษาดูงานให้กับบุคคลกรภายในและภายนอกการยางได้ และขยายผลใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ไปยังเขตการยางพาราแห่งประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่


โดยมีเป้าหมายดำเนินการนำร่องในพื้นที่  ประมาณ  2 ล้านไร่ : การยางพาราภาคกลาง-ภาคตะวันออก จ.ระยอง, จ.จันทบุรี, จ.ตราด, จ.ฉะเชิงเทรา, จ.อุทัยธานี และจ.กาญจนบุรี  โดยจะมีการดำเนินประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 : อบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้การวิเคราะห์ดินการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมตามนักวิชาการแนะนำแก่เจ้าหน้าที่การยางพาราแห่งประทศไทย และเกษตรกรชาวสวนยาง เป้าหมาย เขตภาคกลาง-ภาคตะวันออก  กิจกรรมที่ 2 : สำรวจดินในพื้นที่เกษตรกรชาวสวนยางเป้าหมายเพื่อนำไปวิเคราะห์ดินก่อน ต้ดสินใจสนับสนุนปัจจัยการผลิต  กิจกรรมที่ 3  : วางแผนในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิต ปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางเขต ภาคกลาง-ภาคตะวันออก  และกิจกรรมที่ 4 : สนับสนุนปัจจัยการผลิตปุ๋ย ตามค่าวิเคราะห์ดิน ตามคำแนะนำของนักวิชาการแนะนำในช่วงต้นฝนและปลายฝนปี 2568  โดยคาดว่าจะเกิดผลที่ได้รับ  สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตยางให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง  สร้างรายได้ที่ดีเกิดความยั่งยืนให้เกษตรกรชาวสวนยาง  โดยตรวจวิเคราะห์ดิน และสร้างสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และสนับสนุนนโยบายการทำผลิตภัณฑ์ส่งออกยาง Low carbon  ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ต้นแบบการใช้ปุ๋ยเขตการยาง ภาคกลาง - ภาคตะวันออก  ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งอบรมศึกษาดูงานให้กับเขตการยางอื่น ๆ รวมทั้งผู้ซื้อยางจากต่างประเทศ  ขยายผลใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินยังเขตการยางพาราแห่งประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  และช่วยแก้ปัญหาทุจริตปุ๋ยที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด  ดร.อุทัย   นายกสมาคมสหพันธุ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  กล่าวทิ้งท้าย



ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

วันที่ :  20 กุมภาพันธ์ 2568
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com