ประธานบอร์ด กยท. ถอดโมเดล ที่ดิน ส.ป.ก. หนุนสวนยาง 10 ล้านไร่ ที่มีรัฐเป็นเจ้าของพื้นที่ เข้าถึงโฉนดต้นไม้ยาง พร้อมรับสิทธิ์ในการขอรับทุนปลูกทดแทน หวังบริหารราคายางมีเสถียรภาพระยะยาว ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า วันนี้ (7 ก.พ. 2568) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการจัดประชุมประชาพิจารณ์ ร่างประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง แบบและวิธีการยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน (ฉบับที่ 5)พ.ศ..... โดยได้เชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐผู้ดูแลที่ดินทำกินที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมหารือ ระดมความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ โดยมุ่งปรับปรุงวิธีการ เอกสารหลักฐานที่ดินเพื่อยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน เพิ่มโอกาสชาวสวนยางเข้าถึงสิทธิ์ในการขอรับทุนปลูกแทนจาก กยท. ซึ่งจากการประเมินที่ดินที่อนุญาตให้เกษตรปลูกสวนยาง ประมาณ 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ
อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ,กรมพัฒนาที่ดิน, กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมป่าไม้ ,กรมอุทยานแห่งชาติ, กรมธนารักษ์, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรมทรัพยากรน้ำและบาดาลกรมการพัฒนาชุมชน เป็นต้น เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ในการกำหนด ร่างประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง แบบและวิธีการยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน (ฉบับที่ 5)พ.ศ......"
ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการเพิ่มเติมเอกสารที่ดินที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอรับการส่งเสริมลงในส่วนแนบท้ายของร่างประกาศฯ เพื่อให้เกษตรกรที่มีสวนยางอยู่ในพื้นที่ที่มีหนังสืออนุญาตหรือหนังสือรับรอง หรือหนังสือสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐอื่น ๆ ที่หน่วยงานของรัฐออกให้ตามพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 สามารถขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนกับ กยท. ได้ ลักษณะนี้จะคล้ายกับ ส.ป.ก. คือให้สิทธิทำกินเท่านั้น
โดยเกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถโค่นยางที่ถึงกำหนดโค่นและปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงกว่า หรือปลูกพืชอื่น ๆ แทนได้ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสแก่เกษตรกรชาวสวนยางให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ทำกินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้ต่อเนื่อง และเกิดความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางในที่สุด
สอดคล้องกับนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากทำประชาพิจารณ์ผ่านทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว กยท. จะเร่งเสนอร่างประกาศฯ ให้กับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยพิจารณาและประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |