ถุงมือยางเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพื่อใช้ทางการแพทย์ ทั้งนี้ผลจากการแพร่ระบาดของโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้ถุงมือยางมีแนวโน้มสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงการใช้ในครัวเรือน เพื่อสุขอนามัยและป้องกันโรค ปัจจุบันแม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิต และส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก มีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบ แต่จากกระแสความต้องการถุงมือยางสังเคราะห์มีมากขึ้น มีประเด็นสำคัญจากการแพ้โปรตีนในยางธรรมชาติ ฉะนั้นในอนาคตสัดส่วนการใช้ถุงมือยางสังเคราะห์อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้มีการใช้นํ้ายางธรรมชาติลดลง
เฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดส่งออกถุงมือยางอันดับ 1 ของไทย (ปี 2566 มีสัดส่วน 42.59% ของการส่งออก) หลายมลรัฐได้ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ โดยอ้างมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ผู้ใช้บางรายเกิดอาการแพ้แป้งในถุงมือยางธรรมชาติ (สาเหตุที่ถุงมือยางธรรมชาติส่วนใหญ่มีการเคลือบแป้ง เพื่อช่วยให้สวมใส่ได้ง่ายขึ้น) หรือบางรายมีอาการแพ้โปรตีนที่อยู่ในยางธรรมชาติ ส่งผลให้มีอาการระคายเคืองผิวหนัง มีผื่นคล้ายลมพิษ มีนํ้ามูกไหล ไอ จาม เป็นต้น
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยของการใช้ถุงมือยางธรรมชาติ รวมถึงการกำหนดแนวทางการขยายการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ ที่มีตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ( 16 ก.พ.66) โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
ผ่านมากว่า 1 ปี 10 เดือนสถานการณ์อุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์ "นายอดิศักดิ์ กองวารี" นายกสมาคมถุงมือยางไทย ถึงอนาคตถุงมือยางไทยในตลาดโลกนับจากนี้
ชิงตลาดโลก 1.6 ล้านล้านบาท นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีการส่งออกถุงมือยางมูลค่ามากกว่า 43,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดถุงมือยางโลกมีมูลค่าถึง 1.6 ล้านล้านบาท ปัจจุบันไทยถูกจีน เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และสามารถแซงไทยขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย ส่งผลให้เวลานี้ไทยเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับ 3 ของโลก มีตลาดส่งออกหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรป และยังมีตลาดรองๆ อีก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศในอาเซียน และอินเดีย แต่โดยรวมแล้วยังมีสัดส่วนน้อยกว่าตลาดหลักคือสหรัฐมาก โดยที่ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลกแต่ละราย จะมีการพัฒนานวัตกรรมถุงมือยางตลอดเวลา ทั้งนี้ส่วนแบ่งการตลาดของไทยจะคว้าโอกาสได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่เอกชนและรัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกัน
ลุยยุทธศาสตร์ทำ R&D สร้างเชื่อมั่น "ล่าสุดทางสมาคมฯได้เสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้จัดตั้งคณะทำงานขยายการแปรรูปยางพาราทั้งระบบ ทั้งต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า และเชื่อมต่อไปยังผู้บริโภค โดยมีกระทรวงต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์ถุงมือยางไทยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้โรงงานถุงมือยาง มีศักยภาพที่แข็งแกร่ง และเพิ่มการใช้ยางแปรรูปในประเทศ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ยางปลายนํ้าให้มากขึ้น และแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก ซึ่งอาศัยกระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้"
อย่างไรก็ดีโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศจำนวนมาก เวลานี้ยังขาดการสนับสนุน และไม่มีเจ้าภาพที่จะมาแก้ไขปัญหาจริงจัง อาทิ การวิจัยและพัฒนา ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึง งานวิจัยและพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนตํ่า เพื่อลดการแพ้ในผู้บริโภคบางกลุ่ม ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการไปจ้างสถาบันวิจัยชั้นนำในสหรัฐ หรือในยุโรป เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ เพราะการจะปรับเปลี่ยนความคิดเก่า ๆ ที่ถูกปลูกฝังมากว่า 30 ปี ให้เป็นความคิดใหม่ จะต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ในระดับโลกควบคู่ไปด้วย เชื่อว่าหากทำสำเร็จ นอกจากจะกอบกู้ตลาดสหรัฐ และยุโรปได้แล้ว ยังเป็นโอกาสของไทยอีกมาก ในฐานะแหล่งวัตถุดิบยางพารา และนํ้ายางข้นอันดับ 1 ของโลก
ปั้น "ถุงมือยาง" ซอฟต์พาวเวอร์ นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้ผู้ส่งออกถุงมือยางยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปี 2568 ได้แก่ 1.สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ขยายวง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และมีทิศทางการยกระดับรุนแรงขึ้น 2.สหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นภาษีสินค้าจีน จะทำให้อานิสงส์อาจตกไปอยู่กับการนำเข้าถุงมือยางจากมาเลเซียแทน เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว สมาคมถุงมือยางฯ กำลังหาหางบประมาณเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของอุตสาหกรรม โดยให้ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หรือสถาบันที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน มาช่วยวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็ง ในส่วนต่างๆ
ทั้งนี้ภาคเอกชน และราชการต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสและอนาคตอย่างยั่งยืนของถุงมือยางไทย โดยรัฐบาลต้องประกาศเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยน หรือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อเสริมศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ |