นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวภายหลังเป็นประธาน Kick Off เปิดใช้เครื่องกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลจากยางพารา และเครื่องชั่งยางดิจิตอลอัจฉริยะ ว่า กยท. มุ่งส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพ โดยเน้นการนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยี เข้ามาสนับสนุน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่กระบวนการผลิตยาง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ กยท. ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ กยท. จัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) จำนวน 800,000 บาท เพื่อสร้างนวัตกรรมเครื่องกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลจากยางพาราด้วยระบบไพโรไลซิส (Pyrolysis System) มอบให้กับสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราดงน้อย จำกัด ใช้ในการกำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น เศษยางก้อน เศษยางแผ่น ยางที่เสื่อมคุณภาพ ถุงพลาสติก และเศษขยะอื่นๆ แทนการกำจัดด้วยวิธีการเดิมๆ อย่างการเผาหรือการฝังกลบ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดกับชุมชนได้เป็นอย่างมาก สอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจ BCG Model ที่นำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มากระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเครื่องกลั่นน้ำมันฯ ดังกล่าว จะแปรสภาพเศษขยะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้เกษตรกรนำมาใช้กับเครื่องมือทางการเกษตร ช่วยลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิต ลดปริมาณขยะของเสียในชุมชน และเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้สหกรณ์ฯ ดงน้อย เป็นต้นแบบในการสร้างกระบวนการเรียนรู้การจัดการขยะของเสียที่เกิดจากกิจกรรมรวบรวมยาง สู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศษยางคุณภาพต่ำ สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกร ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคายางก้อนถ้วยได้
นายสุขทัศน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กยท. ยังมอบเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49(3) เป็นจำนวน 300,000 บาท ให้แก่สหกรณ์กองทุนสวนยางพาราดงน้อย จำกัด เพื่อจัดซื้อเครื่องชั่งดิจิตอล พร้อมอุปกรณ์และระบบสำหรับชั่งยาง เพื่อใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการซื้อขายยางพารา (เครื่องชั่งยาง Smart GMP) โดยชุดเครื่องชั่งยางดิจิตอลฯ นี้ มีระบบจัดเก็บฐานข้อมูลของเกษตรกรที่เข้ามาซื้อขายยางก้อนถ้วย และสามารถใส่ข้อมูลราคายางประจำวันได้กว่า 4 ประเภทยาง โดยเกษตรกรยังสามารถกรอกรายการค่าใช้จ่าย เช่น ค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง ฯลฯ เพื่อใช้ในการคำนวณและแสดงข้อมูลสรุปกำไร-ขาดทุนของเกษตรกรได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้การจัดการระบบขั้นตอนการรับซื้อยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิก มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการพัฒนาระบบการซื้อขายยางพาราให้ได้มาตรฐาน ทันสมัย มีความถูกต้องแม่นยำ และน่าเชื่อถือ
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย