กยท. ต้อนรับผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปและ EFI นำร่องสินค้ายางพารา พร้อมเตรียมโครงการสนับสนุนเกษตรกรภายใต้กฎระเบียบ EUDR
(13 พ.ย. 2567) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำนักงานใหญ่ – ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารของ กยท. ให้การต้อนรับผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรปและสถาบันป่าไม้ยุโรป (EFI) นำโดย นายสาโรช ศรีใส ผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมด้วย Dr. Flip Van Helden Head of EFI Asia Regional Officer และ Mr. Peter Aldinger Forest Governance Expert ร่วมหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับจัดโครงการสนับสนุนเกษตรกรภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมสนับสนุนเกษตรกรด้านแนวทางทางปฏิบัติภายใต้กฎระเบียบ EUDR โดยจะเริ่มดำเนินโครงการในปี 2568 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรปและ EFI จะเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ EUDR เช่น พิกัดทางภูมิศาสตร์ คู่มือการปฏิบัติงานด้านการจัดการความเสี่ยงของสินค้ายางพารา การถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการฝึกอบรมให้กับพนักงาน กยท. เกษตรกรรายย่อย ผู้ปฏิบัติงานด้านตลาดกลางยางพาราและตลาดเครือข่าย เป็นต้น
ดร.เพิก เผยถึงการหารือครั้งนี้ว่า ผู้บริหาร กยท. ได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการดำเนินงานของ กยท. ในการออกโฉนดต้นยางให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นเอกสารที่สามารถตรวจย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดยางพาราตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) เพราะโฉนดต้นยางจะทำให้รู้พิกัดของต้นยาง ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์รับรอง ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เกิดการสวมสิทธิ์ผลผลิตที่ได้จากแปลงภายใต้กฎระเบียบ EUDR รวมถึงสามารถนำมาใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ยืนยันแล้วว่ายางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่กักเก็บคาร์บอนได้ ดังนั้น เกษตรกรที่ได้รับโฉนดต้นยางก็จะมีรายได้เสริมจากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย ตอกย้ำว่า กยท. เป็นหน่วยงานด้านยางพาราที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโลก
"นับว่า ความร่วมมือและการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปกับสินค้ายางพาราของประเทศไทย เป็นทิศทางในการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของยางพาราทั้งระบบ และ กยท. มีความยินดีอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลยางทั้งระบบของประเทศไทย พร้อมให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรายย่อย และเครือข่ายตลาดกลางยางพาราให้มีมาตรฐานเพื่อรองรับตลาดสหภาพยุโรปได้อย่างยั่งยืน” ประธานบอร์ด กยท. กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |