ทีมผู้บริหาร กยท. รับนโยบาย รมว. นฤมล พร้อมขับเคลื่อน 9 นโยบาย เพื่อบรรลุเป้าหมาย เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน
(16 ก.ย. 67) ณ ห้องประชุมธารทิพย์ อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานแก่ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ด้าน การยางแห่งประเทศ (กยท.) นำโดย ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานบอร์ด กยท. นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ และนายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหาร เข้าร่วมรับฟัง 9 นโยบายสำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลัก "เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้ให้นโยบายด้านการเกษตร ภายใต้แนวคิด "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เน้นยกระดับการทำเกษตรทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาอาชีพเกษตรกร และดึงจุดเด่นของประเทศไทย ให้ตอบสนองต่อความต้องการโลก เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าและราคาพืชผลการเกษตร สู่การยกระดับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ในรัฐบาลชุดนี้ จะยึดหลักการทำงาน คือ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และเน้นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรและวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยชู 9 นโยบายสำคัญ ได้แก่ การสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ การเร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร การบริหารจัดการน้ำ การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร การรับมือกับภัยธรรมชาติ การสานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน และการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร
"นโยบายทั้ง 9 ด้าน ของกระทรวงเกษตรฯ มุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไทย อย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรไทยให้อยู่ดีกินดี สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง และทรัพยากรเกษตรยั่งยืน ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของครอบครัวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคีต่าง ๆ และที่สำคัญ คือความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากพี่น้องเกษตรกรไทย และคนในภาคการเกษตรทุก ๆ ฝ่ายไปพร้อมกัน ศ.ดร.นฤมล กล่าว
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตร สานต่อนโยบายเดิม 9 นโยบาย ได้แก่
1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ โดยเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช และขยายครอบครัวเกษตร บูรณาการงานอย่างเข้มแข็ง ตลอดจนสานต่อภารกิจการกำกับดูแลสินค้าเกษตร
2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร ยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร รวมถึงพัฒนาช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน
3. บริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน
4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ
5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการทำธุรกิจสหกรณ์การเกษตรให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และนำมาต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้เพิ่ม และ ส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร โดยเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรมีเครื่องมือ เครื่องจักรกล พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรเป็นอาชีพเสริมได้
6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย BCG เพื่อรองรับนโยบาย/มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น EUDR, CBAM และ Carbon Credit โดยทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งเสริมฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการผลิต (Agri-Map) รวมถึงฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
7. รับมือกับภัยธรรมชาติ มาตรการเชิงรุก ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เมื่อประสบเหตุภัยแล้ง หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกชนิด
8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน ดำเนินการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบสต็อกสินค้าเกษตรในประเทศ ไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ และควบคุมการนำเข้า/การกักตุน/เก็งกำไร โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร พัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร บริหารจัดการ ความเสี่ยง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ผลักดันนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ รวมถึงทูตเกษตร ในการขยายตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ นำนวัตกรรมมาเป็นจุดขายสินค้าเกษตรผ่านแอปพลิเคชันทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |