กยท. จัดเวทีพัฒนาทักษะ พร้อมเฟ้นหานวัตกรรมด้านยางพารา เน้นต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ สู่อุตสาหกรรมยางอย่างเป็นรูปธรรม
(4 ก.ย. 67) ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ เปิดกิจกรรม "Natural Rubber Startup Acceleration Program: Scale up project” ซึ่งจัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ต่อยอดงานวิจัย พร้อมนำเสนอผลงานนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง การพัฒนาด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. และนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. เป็นผู้มอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดประเภทต่างๆ
ดร.เพิก กล่าวถึงนโยบายการผลักดันงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมยางพาราเชิงพาณิชย์ว่า มีแนวคิดปรับรูปแบบการนำเสนอสู่สาธารณชนแทนที่จะนำเสนอเฉพาะในแวดวงของ กยท. เพื่อเผยแพร่งานวิจัยในวงกว้างให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำงานวิจัยยางพาราสู่อุตสาหกรรมได้ และอยากให้ กยท. มีมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์มารองรับ เพื่อส่งเสริมต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราจากงานวิจัยให้ได้มากที่สุด
นายณรงศักดิ์ กล่าวว่า กยท. มีการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ในเรื่องการพัฒนาธุรกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้กับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางมาโดยตลอด ซึ่งให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะและพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้ด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยางพารา รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน สร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อแข่งขันกับตลาดภายนอกจนเกิดทักษะในด้านการวางแผนจัดการผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านมาตรฐาน ด้านการตลาด ด้านการเจรจาซื้อขาย เพื่อให้สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางนำความรู้ที่ได้ไปยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพและเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่การลงทุนในธุรกิจระดับสากล กยท. จึงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรม "Natural Rubber Startup Acceleration Program: Scale up project” ขึ้น โดยเปิดโอกาสบุคคลทั่วไป ผู้ประกอบการ ชุมชน เกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร เข้าร่วม Pitching และคัดเลือกทีมที่มีความพร้อมขอรับการสนับสนุนเพื่อรับโอกาสในการต่อยอดเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ใน 4 platform ได้แก่ การจ้างผลิตจำนวนมากเพื่อทดลองใช้จริง การร่วมทดลองใช้จริงกับหน่วยงานภาครัฐ การเข้าสู่บัญชีนวัตกรรม และการยกร่างมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมฯ ในครั้งนี้จะคัดเลือก ผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสทางการตลาด ความน่าลงทุน เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจสามารถยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งกิจกรรมฯ ในครั้งนี้จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายในการใช้ยางพาราในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยางพาราสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนในที่สุด
สำหรับผลการตัดสินผลงานผลิตภัณฑ์ยางพาราจากการนำเสนอผลงานบนเวที (Pitching on stage) ประจำปี 2567 แบ่งเป็น ผลงานนวัตกรรมที่น่าร่วมลงทุนมากที่สุด ได้แก่ พื้นยางสังเคราะห์ ผลงานนวัตกรรมที่นำเสนอดีที่สุด ได้แก่ วัสดุจักสานยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก และผลงานนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมากที่สุด ได้แก่ หมวกนิรภัยจากยางพารา นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลโดยการนำเสนอผ่านโปสเตอร์ (Poster Pitching) ประจำปี 2567 แบ่งเป็น ผลงานนวัตกรรมโดดเด่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง ได้แก่ ถุงมือยางต้านเชื้อ จากทีม SROV ผลงานนวัตกรรมโดดเด่นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นสนามกีฬาจากเศษยางรีไซเคิล จากชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด ผลงานนวัตกรรมโดดเด่นที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ได้แก่ ยางนวดเท้าเพื่อสุขภาพ และผลงานนวัตกรรมโดดเด่นที่น่าจับตา ได้แก่ หนังเทียมยางธรรมชาติคอมโพสิตเส้นใยสับปะรด ทั้งนี้ ทุกทีมที่เข้าร่วมการ Pitching ในครั้งนี้จะสามารถเขียนข้อเสนอโครงการในการขอรับทุนจาก กยท. เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานจ้างผลิตจำนวนมากเพื่อทดลองใช้จริง การยกร่างมาตรฐานอุตสาหกรรม การร่วมทดลองใช้จริงกับหน่วยงานภาครัฐ และการเข้าสู่บัญชีนวัตกรรม
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |