ผู้นำ กยท. ร่วมพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ-นิทรรศการถุงมือยางมาเลเซีย ครั้งที่ 11 หวังผลักดัน กำหนดทิศทางนโยบายยางธรรมชาติสู่ตลาดอุตสาหกรรมถุงมือยาง No.1 ของโลก
(3 ก.ย. 67) ประธานบอร์ด กยท. (ดร.เพิก เลิศวังพง) และรักษาการ ผวก.กยท. (นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล) เข้าร่วมพิธีเปิดงาน ประชุมวิชาการและนิทรรศการถุงมือยางมาเลเซีย ครั้งที่ 11 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เน้นการนำเทคโนโลยีและการวิจัย หวังเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต คุณภาพทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อให้อุตสาหกรรมถุงมือยางมีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศมาเลเซีย นับว่าใหญ่ที่สุด เพราะมีส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 45 ของตลาดโลก ครอบคลุม 105 ประเทศ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อรายได้ในการส่งออกของมาเลเซียที่มีมูลค่าประมาณ 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมาเลเซียคาดการณ์ว่า อัตราการใช้ถุงมือจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 – 8 ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา อุตสาหกรรมถุงมือยางได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวอย่างโดดเด่นในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ระดับโลกที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้มาเลเซียเป็นประเทศหลักในการผลิตและจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมถุงมือยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผันผวนของราคาที่รวดเร็ว พื้นที่ที่ไม่มีการกรีด และสถานการณ์โรคพืช ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้พยายามหาทางแก้ไข เช่น การเพิ่มผลิตต่อไร่ การพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในการแปรรูป เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เป็นต้น ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ มีความตระหนักในการร่วมแก้ปัญหาด้านเทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพ และความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้อุตสาหกรรมดังกล่าว มีความยั่งยืน
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมงาน ประชุมวิชาการและนิทรรศการถุงมือยางมาเลเซีย ครั้งที่ 11 ได้รับเกียรติจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางมาเลเซีย (Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association : MARGMA) เพื่อให้เข้าใจทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซียที่เน้นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากยิ่งขึ้นในทุกๆ อุตสาหกรรม เพื่อพยายามเร่งแก้ปัญหาการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ตลอดจนกฎระเบียบในการตรวจสอบย้อนกลับและการรับรองห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากยางพารา แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศมาเลเซียในฐานะประเทศผู้ผลิตผู้รายใหญ่ที่สำคัญของโลก ดังนั้น ในการพัฒนากระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย กยท. มุ่งเน้นการผลักดันการส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมการลงทุนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตยางพารา ตลอดจนส่งเสริม Start up และพัฒนาธุรกิจใหม่ด้านยางพารา และสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางตลอดห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมตลาดสินค้ายางจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ตรวจสอบได้ ตามมาตรฐานสากล หวังว่าประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก จะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการยางธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อรองรับการพัฒนาในทุกๆ อุตสาหกรรมของยางธรรมชาติ
ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย |