TLA LATEX
   
 
วันที่ 22/01/2568
68.50 บาท/กก.
 
วันที่ 21/01/2568
1,585.00 USD/MT (@ B/USD)
ข่าวสาร
สมาคมน้ำยางข้นไทย
  •   ฟันธงราคายางครึ่งปีหลังสดใส กยท. เดินหน้ากำหนดราคาอ้างอิงของไทย new

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพาราว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงาน ราคายางมีเสถียรภาพขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่เคยราคาต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้นมาอยู่ประมาณ 84 บาทต่อกิโลกรัม และเคยขึ้นไปสูงถึงกว่า 96 บาทต่อกิโลกรัมมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นผลมาจากการเอาจริงในการปราบปรามยางเถื่อน  และการขับเคลื่อนนโยบายด้านยางพาราให้เห็นผลเป็นรูปธรรมของรัฐบาล รวมทั้งสถานการณ์ขณะนี้มีปริมาณความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนจำกัด

นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง สหภาพยุโรป (EU) จะบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราใน EU ได้มากขึ้นเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง เนื่องจากยางพาราจากประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศที่สามารถ ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้ว่าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ตามกฎหมาย EUDR

ดังนั้นประเทศที่ต้องการจะส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบไปขายในตลาด EU  จะต้องมาซื้อยางพาราจากประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ราคายางในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีราคาสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพแน่นอน

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า ราคายางในปัจจุบันค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายด้านยางของรัฐบาลประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญ่ที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น  

อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันสถานการณ์เอลนีโญ่ได้ผ่านพ้นไปแล้วและมีปริมาณยางเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ส่งกระทบต่อราคายาง เพราะตลาดมีความต้องการใช้ยางก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้มีการประเมินคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้ยางเพิ่มมากกว่าปริมาณผลผลิตยาง ผนวกกับกฎหมาย EUDR  ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้  ได้ส่งผลบวกต่อยางพาราจากประเทศไทย จึงทำให้ราคายางในขณะนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็งและมีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า ขณะที่ราคายางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กยท. ยังได้สร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจของ กยท. ที่กำหนดไว้ว่า

“บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการเป็นองค์กรชั้นนำด้านยางพาราระดับโลก”  

โดยล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ กยท.ได้ลงนาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือTFEX  ในการพัฒนาการคำนวณราคายางเพื่อเป็นราคาอ้างอิงของไทย (Rubber Reference Price) สำหรับซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ  ที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
 ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลกก็ตาม แต่การอ้างอิงราคายางเพื่อทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศยังคงอ้างอิงราคาจากตลาดยางต่างประเทศเป็นหลัก

ดังนั้น การที่ไทยสามารถพัฒนาสูตรการคำนวณเพื่อกำหนดราคาอ้างอิงได้เองจะช่วยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกรและผู้ผลิตยางพาราไทยได้ กยท. ในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของไทยทั้งระบบ ตลอดจนการซื้อขายยางพาราในประเทศและการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่ต่างประเทศ จึงผสานความร่วมมือกับ TFEX  ร่วมกันพัฒนาการคำนวณราคาอ้างอิง เพื่อใช้ในการซื้อขายยางของไทยที่มีความโปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล พร้อมเผยแพร่ราคาดังกล่าวสู่สาธารณะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นฐานในการกำหนดราคาทำสัญญาซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ(ราคา FOB) 


 สำหรับการคำนวนราคาอ้างอิงยางพาราดังกล่าวนั้น จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขึ้นมาพิจารณา  โดยมีผู้ว่าการ กยท. เป็นประธาน  ซึ่งจะมีการเปิดเผยวิธีการคำนวณและตัวแปรให้ทราบเป็นการทั่วไป  

ทั้งนี้ กยท. จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลฐานของราคายางและผลิตภัณฑ์ยางพาราชนิดต่างๆ ตลอดจนปริมาณยางและข้อมูลจำเป็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดกลางยางพาราทั้ง 8 แห่งของ กยท. ส่งให้ทาง TFEX  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นกลาง เพื่อใช้คำนวราคาอ้างอิง(FOB) โดยจะพิจารณาจากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต รวมค่าขนส่งและปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย ดังนั้นราคาอ้างที่ประกาศเผยแพร่ออกไป จึงเป็นราคาที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง

 โดยในระยะแรกประกาศราคาอ้างอิงสำหรับยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS) ในเวลา 12.00 น. เริ่มตั้งแต่่เดือนกรกฏาคม 2567    น้ำยางข้น(LATEX) ยางแท่ง(TSR20)  ในเวลา 19.00 น. เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป   ส่วนในระยะต่อไปจะพัฒนาราคาอ้างอิงยางพาราของไทยที่เป็นราคา EUDR ด้วย


 “ความร่วมมือในการกำหนดราคา  Rubber Reference Price จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นำไปสู่การยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา" ผู้ว่าการ กยท.กล่าวในตอนท้าย

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

วันที่ :  18 มิถุนายน 2567
 
 

สำนักงาน 60 ถ.โชติวิทยะกุล 3 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
โทรศัพท์ 0 7455 9508 , 09 5065 2772
E-mail: tla.latex@gmail.com, contact@tla-latex.org



Copyright 2006. www.tla-latex.org All rights reserved.
Powered by ME-FI dot com