ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่างๆทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มยานยนต์ ถุงมือยาง และอุปกรณ์การแพทย์ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราในภาพรวม คาดว่าระหว่างปี 2567-2568 จะมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกยางพาราในปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 60,000 ล้านบาท กยท.ได้เล็งเห็นข้อได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ยางพาราและโอกาสในสถานการณ์ดังกล่าว ที่ผลักดันและสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ให้เป็นจริง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราอย่างยั่งยืน และจะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศศูนย์กลางยางพาราโลก ตามนโยบายของรัฐบาล
ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยางพารา ได้จับมือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพารา และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกรอบแนวทางดำเนินงานภายใต้ MOU ดังกล่าว ไม่เพียงแค่ การร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา วิจัย พัฒนา หรือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเท่านั้น แต่ยังจะสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ อีกด้วย
“กรอบการดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ตั้งแต่การเริ่มปลูก การแปรรูปน้ำยางเป็นผลิตภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ทำจากยางพารา ต่อเนื่องเป็นสายธารในการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามพันธกิจของ กยท. ในการสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายต่อไป” ประธานบอร์ด กยท.
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า หลังจากนี้ กยท. และ กนอ. จะร่วมทำ Road Show เพื่อหาตลาดและนักลงทุนที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมด้านยางพารา ซึ่งมีการจัดการระบบนิคมฯ ให้มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตัวสินค้า พื้นที่ที่รองรับ รวมทั้งนักลงทุนยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนและวัตถุดิบยาง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตและแปรรูปภายในนิคมอุตสาหกรรม จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบ EUDR ที่สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศจะนำมาใช้บังคับอีกด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนยางของเกษตรกร ที่อยู่ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้แล้วประมาณ 14 ล้านไร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มสวนยางพาราให้เข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ได้ถึง 19 ล้านไร่ก่อนสิ้นปี 2567 จากพื้นที่ปลูกสวนยางทั่วประเทศกว่า 20 ล้านไร่ ซึ่งการที่ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางที่มีการจัดการเพื่อรองรับมาตรฐานสากลสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นจากยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมลงทุนได้อย่างแน่นอน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |